นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษ “เกษตรไทย มาตรฐานโลก” ภายในงาน “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การจัดงาน “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด มีเป้าหมายในการถ่ายทอดและสร้างการรับรู้ถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก สร้างการรับรู้ถึงการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตทางการเกษตรและอาหารสู่ช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สร้างโอกาสการขายสินค้าให้กลุ่มเกษตรกรในทุกกลุ่มสินค้า และเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเป็นครัวโลกด้วย “อาหารปลอดภัย”
ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาที่สำคัญ คือ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกรในสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้วในส่วนของการประกันรายได้เกษตรกรในสินค้าทั้ง 6 รายการ รวมถึงการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของภาครัฐ การพัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด การค้าออนไลน์ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ การลด ละ เลิกใช้ยาปราบศัตรูพืชโดยเร็ว เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) หรือ AIC เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครบแล้วทั้ง 77 จังหวัดด้วย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า เกษตรสมัยใหม่ หรือ “เกษตรทันสมัย” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการผลักดันให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับช่องทางการตลาด “พาณิชย์ทันสมัย” ของกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังเร่งดำเนินการเช่นกัน โดยเกษตรทันสมัย นอกจากจะเป็นในรูปแบบเกษตรรวมกลุ่ม เกษตรนวัตกรรม เกษตรปลอดภัย เกษตรแปรรูป เกษตรเทคโนโลยี และเกษตรพอเพียงแล้ว ยังมุ่งเน้นการผลักดันให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั่วไป สินค้ามาตรฐาน GAP GMP CODEX ฮาลาล และมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งมาตรฐานของรัฐและมาตรฐานเอกชนเพื่อการส่งออก และสินค้าพรีเมียม เช่น สินค้า GI ออร์แกนิค นวัตกรรม สตอรี่ แบรนด์ และอื่นๆ ที่เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรต้นน้ำและภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องมีรายได้ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2562 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมมูลค่ารวม 1.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของการส่งออกสินค้าไทยในภาพรวม ซึ่งแม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ในปีที่ผ่านมาติดอันดับ 11 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ซึ่งในระดับเอเชียเราเป็นรองแค่จีนเท่านั้น ขณะที่มูลค่าตลาดอาหารในประเทศในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท
ดังนั้น ภาพรวมตลาดอาหารของไทยทั้งในประเทศและส่งออกในปี 2562 มีมูลค่ารวมมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ถือว่ามีศักยภาพสูง และยังมีช่องทางโอกาสอีกมาก และสำหรับห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ณ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกภาคการเกษตรราว 138 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยที่มีประมาณ 321 ล้านไร่ มีอุตสาหกรรมพื้นฐานกว่า 44,000 แห่ง วิสาหกิจชุมชน 55,000 แห่ง และมีอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกว่า 54,000 แห่ง
"จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลกหดตัวลง ยังผลให้การใช้กำลังการผลิตของโรงงานแปรรูปอาหาร ณ ปัจจุบันเฉลี่ยยังอยู่ที่ 50 - 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ขณะที่สถานการณ์โควิดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะทางฝั่งเอเชีย ซึ่งสินค้าเกษตรและอาหารของไทยถือมีความโดดเด่นในตลาดโลก หากมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่เป็นวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่ผู้บริโภคทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากขึ้น จะมีส่วนช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานให้ประสบความสำเร็จ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลังจากนี้ได้อีกมาก ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดซัพพลายเชนต้องผนึกกำลังร่วมมือกันผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว