สปสช.ลงพื้นที่เยี่ยมการดำเนินงาน อบต.โป่งแยง จ.เชียงใหม่ สนับสนุนงาน Long Term Care (LTC) ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผสาน รพ.-รพ.สต.-อสม.ในพื้นที่ จัด “Caregiver” ลงเยี่ยมบ้าน-ส่งยา ดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่สูงชัน
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ Long Term Care (LTC) ขององค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง (อบต.โป่งแยง) อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านโป่งแยงใน และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่
สำหรับ ต.โป่งแยง ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ราว 28 กิโลเมตร มีจำนวน 10 หมู่บ้าน 1,733 หลังคาเรือน รวมประชากร 8,887 คน ในจำนวนทั้งหมดเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน LTC แบ่งเป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 65 ราย ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 10 ราย ผู้พิการ 26 ราย ผู้ประสบอุบัติเหตุ 6 ราย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 812 ราย และผู้ป่วยโรคไต 25 ราย
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงทั้งหมด 65 คน ปัจจุบันได้รับเข้าระบบการดูแลแล้ว 45 คน ซึ่งในพื้นที่ ต.โป่งแยง มีผู้จัดการระบบ (Care Manager) 1 คน ผู้ช่วยเหลือผู้ดูแล (Caregiver) 11 คน และ อสม.รวม 206 คน
นายวัน ม่วงมา นายก อบต.โป่งแยง เปิดเผยว่า อบต.โป่งแยง ได้ออกประกาศจัดตั้งศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงตำบลโป่งแยง เพื่อใช้ดำเนินงาน LTC รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ LTC เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
นายวัน กล่าวว่า ทาง อบต.ยังสนับสนุนยานพาหนะเพื่อใช้ในการดำเนินงาน โดยสนับสนุนรถพยาบาลพร้อมคนขับเพื่อรับ-ส่งผู้มีภาวะพึ่งพิง กรณีต้องไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือสนับสนุนรถยนต์พร้อมคนขับเพื่อให้ Caregiver ใช้เดินทางไปเยี่ยมผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ห่างไกลได้ นอกจากนี้ยังสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของ อบต. ออกปฏิบัติงานลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์ฯ อีกด้วย
นายบุญสืบ ศรีไชยวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน LTC หรือเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านนั้น Care Manager และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จะร่วมกันประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) หรือเกณฑ์การประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย พร้อมจัดทำ Care Plan หรือแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคลส่งให้คณะอนุกรรมการ LTC อนุมัติ จากนั้น Caregiver จึงเข้าเยี่ยมและให้การดูแลตาม Care Plan นั้น
“นอกจาก Caregiver แล้ว ผู้ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยยังมีทั้งญาติผู้ป่วย จิตอาสา อบต. ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ รพ.นครพิงค์ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านโป่งแยงใน และ อสม. โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปรับบริการที่ รพ.ไม่ได้ ยังพัฒนาเครือข่ายส่งยาถึงบ้าน และมีการนำ Telemedicine และ Smart Consult มาทดลองใช้ในพื้นที่อีกด้วย” นายบุญสืบ กล่าว
ด้าน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การลงเยี่ยมบ้าน และส่งยาถึงบ้าน เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านได้รับบริการที่ครบถ้วน โดยมีตัวอย่างการดำเนินงานของ อบต.โป่งแยง ที่มี อสม.เข้ามาเยี่ยมถึงบ้าน มี Caregiver เข้ามาคอยดูแล ช่วยดูทั้งเรื่องยา เรื่องคุณภาพชีวิต ช่วยผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอยู่ที่บ้านไม่ให้เครียดจนเกินไป
นพ.รัฐพล กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนงบประมาณ ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามงบประมาณส่วนนี้อาจไม่เพียงพอหากขาดการสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งเป็นความโชคดีที่ท้องถิ่นแห่งนี้เห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยระบบบริบาลของกระทรวงสาธารณสุข คือ อสม. ที่ผ่านการอบรมเป็น Caregiver และ Care Manager เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในการดูแลคนไข้
“จะเห็นว่า พื้นที่นี้แม้เป็นพื้นที่ห่างไกล แต่ก็มีการนำระบบ Telemedicine เข้ามาช่วยให้คนไข้ได้รับบริการเหมือนเดิม ขณะเดียวกันพื้นที่นี้เป็นภูเขา เดิม อสม.หรือ Caregiver ต้องขี่จักรยานยนต์ขึ้นมา ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายสูง แต่ท้องถิ่นก็มีการสนับสนุนรถรับส่ง เป็นความร่วมมือของคนในพื้นที่ ทำให้คุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ของเขาได้รับการดูแลอย่างแท้จริง” นพ.รัฐพล กล่าว
นพ.รัฐพล กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้พิสูจน์บทบาทของ อสม. ที่เป็นผลลัพธ์จากการวางโครงสร้างเอาไว้เป็นระยะเวลาหลายสิบปี จนได้รับการกล่าวขานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และภายหลังจากนี้ยังจะทำให้เกิดนวัตกรรมอีกหลายด้าน ซึ่งปี 2564 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการชดเชยค่า Telemedicine การดูแลผู้ป่วยทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษา กายภาพบำบัด เป็นต้น ดังนั้นต่อไปนโยบายของทุกโรงพยาบาลจะสามารถพูดคุยทางไกล ให้บริการคนไข้อย่างไม่มีข้อจำกัด โดย สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้