นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และพญ. ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงข่าวว่า จากกรณีการจัดแสดงคอนเสิร์ตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 มีผู้เข้าชมคอนเสิร์ตอย่างหนาแน่น บางรายไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยและไม่มีการเว้นระยะห่าง ทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวล นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใย จึงได้มอบให้กรมควบคุมโรคลงพื้นที่พร้อมกับทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ และทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้การสนับสนุน พร้อมทั้งนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานออกให้บริการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาทีมเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมโรค และทีมห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 พัฒนาระบบเตรียมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 2 และโรคอุบัติใหม่
นพ. สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า จากการนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน จำนวน 5 คัน ออกปฏิบัติงานให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ มีผู้มาตรวจหาเชื้อทั้งหมด 2,582 ราย โดยวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เก็บตัวอย่างจำนวน 617 ราย ทั้งหมดให้ผลลบ วันที่ 5 สิงหาคม 2563 มีผู้มาตรวจหาเชื้อเพิ่มอีก 1,965 ราย ทั้งหมดให้ผลเป็นลบเช่นกัน ทั้งนี้เครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ได้ถึง 1,000 ตัวอย่างต่อวัน
“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทย ที่ปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ มีการตรวจจับโรคที่เข้มข้น นำไปสู่การควบคุมการระบาดได้อย่างทันท่วงที ทำให้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และประชาชนยังคงดำเนินชีวิตได้ตามปกติที่เน้นชีวิตวิถีใหม่ (New normal) “สวมหน้ากาก ล้างมือ แยกของใช้ เว้นระยะห่าง ลดแออัด”
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเรื่องโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางออนไลน์ (ดีดีซี โพล) ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2563 พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเองลดลง ได้แก่ การสวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยด้วยไข้ ไอ เจ็บคอ ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือร้อยละ 90.7 และสวมหน้ากากเมื่อไม่มีอาการป่วยลดลงเหลือร้อยละ 68.5 จากที่เคยสูงถึงร้อยละ 93.5 และจะเลิกสวมหน้ากากเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศร้อยละ 42.8, ไม่มีรายงานในต่างประเทศร้อยละ 38.6 และเมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร้อยละ 11.7 การล้างมือหลังหลังเข้าห้องน้ำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 86 ล้างมือก่อน-หลังรับประทานอาหาร ลดลงเหลือร้อยละ 87.9 ล้างมือก่อน-หลังการปรุงอาหารลดลงเหลือเพียงร้อยละ 67.8 ส่วนการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรกับบุคคลรอบข้างเหลือร้อยละ 90.1 และการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น หรืออยู่ในที่สาธารณะเหลือเพียงร้อยละ 56.8