กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผนึกกำลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูลร่วมกันยกระดับความร่วมมือ 2 หน่วยงานให้ใกล้ชิดและเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พัฒนาฐานข้อมูล Big Data และ AI ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจการเกษตรยุคดิจิทัล
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูลร่วมกัน ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ผ้านมาว่า จากนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีต่างๆ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล Big data จึงได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) หรือ AIC ซึ่งมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ พร้อมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้มอบหมาย สศก.เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC โดย สศก.ได้พัฒนาฐานข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวง รวม 10 กระทรวง และศูนย์ AIC ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแต่ละจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือก รวมถึงความร่วมมือกับ ธปท. ซึ่งได้มีพิธีลงนามร่วมกันในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติจากนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย
สำหรับการลงนามความร่วมมือ สศก. กับ ธปท. ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบตรงกันเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามภารกิจให้ทันต่อยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ยิ่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การวิเคราะห์และประเมินเศรษฐกิจแบบใหม่เชิงลึก จะช่วยตีความและทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ข้อมูลสำหรับการดำเนินนโยบาย สนับสนุน หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และภาคส่วนต่างๆ อย่าง ธปท. จะสามารถใช้ข้อมูลเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร อันนำไปสู่มาตรการทางด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า “สศก.ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ เราต้องพัฒนาการจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตร และ Big Data อย่างต่อเนื่อง สศก.ยินดีที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาคเกษตร รวมถึงข้อมูลดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรทั้งที่ปรับฤดูกาลและไม่ปรับฤดูกาลทั้ง 3 หมวด คือ พืช ปศุสัตว์ ประมง รวมมากกว่า 30 สินค้า เพื่อประโยชน์ของ ธปท. ในการติดตาม วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาทักษะด้านวิชาการ การวิเคราะห์ข้อมูล และประยุกต์ใช้เครื่องมือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อการวิเคราะห์ วิจัย และการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจการเกษตรให้มีความรวดเร็ว สมบูรณ์ และแม่นยำ”
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทาง ธปท.ยินดีที่จะให้ข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินที่ ธปท.เป็นผู้จัดเก็บและจัดทำเพื่อประโยชน์ของ สศก. ในการติดตามวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร เสริมศักยภาพของบุคลากรทั้ง 2 หน่วยงาน ภายใต้การวิเคราะห์ ตัดสินใจและกำหนดนโยบายบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลที่ละเอียดรอบด้าน (evidence-based decision making) ในโลกของ Big Data ซึ่ง ธปท. เราได้พัฒนา Application Programming Interface (API) เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิตอล อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ข้อมูลสถิติด้านการเงิน ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก คล่องตัว รวดเร็ว และปลอดภัย ”
นอกจากนี้ การร่วมลงนามในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก พลเอกสุพจน์ ธำมรงค์รัตน์ อุปนายกสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง (สวปอ.มส. รุ่นที่ 1) เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนาม MOU ดังกล่าว และจะได้นำโครงการ Big Data ด้านการเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการนักศึกษาหลักสูตร สวปอ.มส. รุ่นที่ 1 ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผลงานวิชาการที่จะนำเสนอ นายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายนนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง สศก. กับ ธปท. เป็นอีกก้าวสำคัญของการยกระดับความร่วมมือ 2 หน่วยงานให้ใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สู่การวางนโยบายและมาตรการทางการเกษตรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ข้อมูล (data ecosystem) ของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทาย ใหม่ๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว