ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับนโยบายรัฐมนตรีใหม่ ปูพรมรับสมัครฝึกอบรมฝีมือแรงงาน มุ่งเป้าตลาด EEC ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า และผู้ประกอบอาหาร ยังติดอันดับความต้องการจ้างงาน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานเป็นอีกภารกิจที่ กพร.ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและบริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม โดยใช้ระยะเวลาการฝึก 2-4 เดือน ฝึกทั้งในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) หรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) และจะส่งไปฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบกิจการเพื่อฝึกประสบการณ์ในการทำงานซึ่งสถานประกอบกิจการจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสังเกตพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความรู้ ความสามารถเพื่อพิจารณารับเข้าทำงานด้วย ส่วนมากสถานประกอบกิจการจะรับเข้าทำงาน เนื่องจากเป็นการฝึกในหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการฝึกอบรมแรงงานใหม่เตรียมป้อนสู่ตลาดแรงงานของ กพร.เป็นไปตามแนวนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการเตรียมแผนรองรับการจ้างงานคนรุ่นใหม่แก้ปัญหาการว่างงาน
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับแรงงานและสถานประกอบกิจการทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยก็ตาม แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC มีความต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมาก มีโครงการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องย่อมมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย จากข้อมูลพบว่าความต้องการแรงงานในพื้นที่ EEC ยังมีความต้องการกลุ่มอาชีพด้านช่างและภาคบริการ อาทิ ช่างเชื่อมเป็นประเภทงานที่ติด 1 ใน 10 อันดับที่ EEC รวมถึงแรงงานที่มีความรู้ด้านการประกอบอาหาร การเตรียมความพร้อมให้แรงงานมีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาด จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของ กพร.ที่ต้องดำเนินการฝึกให้ทันต่อความต้องการและทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดทำแผนรองรับการฝึกในปี 64 มีเป้าหมายการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน จำนวน 5,440 คน ในการฝึกดังกล่าวมีหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน เป็นการฝึกให้กับแรงงานตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สพร.และสนพ.วางแผนเตรียมรับสมัครฝึกอบรม ตามความต้องการแรงงานในพื้นที่ รวมถึงสาขาอาชีพที่สามารถป้อนสู่ตลาดแรงงานในเขต EEC ด้วย
ปัจจุบันมีหลายจังหวัดเริ่มประกาศรับสมัครหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานแล้ว อาทิ สนพ.ศรีสะเกษ ประกาศเปิดรับสมัครฝึกอบรม 6 สาขา ได้แก่ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และการประกอบอาหารไทย จะเริ่มฝึกอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ฝึกฟรี มีที่พัก สำหรับผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรม