พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดระยอง ว่า ครม. ได้พิจารณาการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งได้มีการหารือในคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ว่าจะมีผลกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เศรษฐกิจด้านการรักษาโรค และเศรษฐกิจภาพรวม ของในประเทศไทยอย่างไร เพราะเป็นรายได้สำคัญของประเทศ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ก็มีคนอยู่ไม่กี่ล้านคนที่จะเที่ยว ซึ่งรองรับนักลงทุนต่างประเทศที่หายไปไม่ได้
"เราต้องหาหามาตรการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศที่เหมาะสม ค่อยๆ ผ่อนปรน ซึ่งต้องมีมาตรการรองรับ ทุกคนต้องยอมรับไม่สร้างความตื่นตระหนก หากไม่ทำเลยก็จะอยู่ที่เดิม แย่ไปกว่าเดิม มีการปิดกิจการ มีการเลิกจ้างงาน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีขีดความสามารถตรวจสอบคัดกรองเชื่อโควิด-19 ได้อย่างดี หากมีการหลุดรอดไปก็สามารถติดตามได้ รักษาพยาบาลได้ มีสถานพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาทั้งสองทางควบคู่กันไป ให้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสุขภาพของประเทศไปด้วยกันได้ หากไม่ทำเช่นนี้ก็จะแก้อะไรไม่ได้สักอย่างเลย รัฐบาลก็มีเงินเท่านี้ เงินกู้ก็มีเท่านี้ วันหน้าก็ต้องใช้หนี้เขาอีก สำหรับการเก็บรายได้ได้ของประเทศต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19
"หากเราตื้นตระหนก ไม่ยอมผ่อนคลายก็จะอยู่ที่เดิม และจะแย่ไปกว่าเดิมไหม รัฐบาลจะหาเงินที่ไหน เพราะภาษีเราก็เก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงาน กำลังพิจารณาใน ศบศ. มีการจ้างงานหลายรูปแบบ ยังบอกไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ จะช่วยคนตกงาน นักศึกษาจบใหม่ ซึ่งมีจำนวนมากจึงต้องบริหารด้วยความละเอียดถูกต้องมากที่สุด เพราะจะมีทั้งคนได้และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการที่จะออกมา เพราะรัฐบาลไม่มีเงินช่วยทุกคนอยู่แล้ว กำลังดูว่ามาตรการนี้จะ 6 เดือน หรือ 1 ปี
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบมาตรการ 2 เรื่องสำคัญ ที่ได้มีการหารือของ ศบศ. เรื่องแรก การกระตุ้นการท่องเที่ยว มีการเสนอทำท่องเที่ยวภูเก็ตโมเดล ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีการชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง
เรื่องที่สอง คือ การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ รมว.แรงงาน เสนอจัดงานเอ็กซ์โปร์ทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดแพกเกจร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
"ทั้ง 2 เรื่องอย่างต้องผ่านการพิจารณา ศบศ. ให้ชัดเจนในเรื่องรายละเอียดก่อนที่เข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งหนึ่ง" นายอนุชา กล่าว