ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน สร้างและพัฒนาบุคคล ชุมชน และเครือข่าย ภายใต้ศักยภาพและบริบทของชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงประเด็นในระดับเครือข่าย มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการภาคการเกษตร โดยใช้เครื่องมือภูมิปัญญา องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี แผนชุมชน แผนธุรกิจ และการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สรุปและถอดบทเรียนการทำงานและขยายผลต่อสังคม ทั้งจะสืบสานไว้ซึ่งศาสตร์พระราชา นอกจากนั้น ในระดับทวิภาคี ได้มีข้อตกลงร่วมกัน ดังนี้
1.สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จะร่วมกันพัฒนาระบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อเชื่อมโยงสนับสนุนสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.โคกสูง (คทช.) จำกัด ให้สามารถประกอบการภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อรับรองวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือปริญญาตรี ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน
2.สมาคมประชาสังคมชุมพร จะร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ในพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และชุมชนนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดิน ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการบริหารจัดการสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงเครือข่ายด้านพันธุกรรมพืชท้องถิ่น และการตลาดระดับภูมิภาค
3.เครือข่ายหลุมพอเพียง จะร่วมกันขยายผลองค์ความรู้ "หลุมพอเพียง" และการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งกระบวนการพัฒนาเกษตรด้านคุณธรรม จริยธรรม และการดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางของศาสตร์พระราชา
4.มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ จะร่วมสร้างและพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้รับการยอมรับภายใต้มาตรฐาน "เกษตรอินทรีย์วิถีไทย" (Earth Safe) พัฒนาผู้ประกอบการตามชนิดสินค้าและสร้างโอกาสทางการตลาดในระดับต่างๆ ตามศักยภาพของชุมชนและเครือข่ายในเขตปฏิรูปที่ดิน
"การเริ่มต้นความร่วมมือกับทั้ง 4 หน่วยงานในครั้งนี้ ส.ป.ก.หวังให้เกิดเป็นรูปธรรมในด้านการบูรณาการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง ทั้งมิติภาคการเกษตร การพัฒนาชุมชน การศึกษา การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการสร้างคุณธรรมจริยธรรมของเกษตรกร รวมทั้งการสืบสานไว้ซึ่งศาสตร์พระราชา อันจะนำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดความสุขและยั่งยืนตลอดไป"