ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความในเฟซบุ๊คส่วนตัว เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas เรื่อง จังหวัดที่เป็นหน่วยหลักในการพัฒนาประเทศ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ " ในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ล้วนเจริญขึ้นมาด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นหลัก ผู้ว่าการมลรัฐ มณฑล ผู้ว่าการมหานคร นายกเทศมนตรี มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ของตนโดยตรง โดยมี อธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี เป็นเพียงผู้ชี้แนะวางกรอบหรือสนับสนุนเท่านั้น ประเทศไทยเรานั้นทำตรงข้ามครับ ทำกันมาราวแปดทศวรรษแล้ว คือนายกเทศมนตรี นายก อบจ นายก อบต มีบทบาทและภารกิจในการพัฒนาน้อยมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดรวมทั้งข้าราชการอื่นๆ ในจังหวัดล้วนไม่ใช่คนของจังหวัดหากเป็นคนของกรมต่างๆ ที่ส่งคน ส่งเงิน ส่งงาน ส่งแผน มาลงในพื้นที่ จังหวัดของเราเอาเข้าจริงเป็นเพียงคล้าย "งานสนาม" ของกรมต่างๆ มารวมอยู่กันหลวมๆ ทำตามที่ส่วนกลางสั่งลงมา ในไทยนั้นการบริหารและพัฒนาประเทศล้วนเป็นเรื่องของกรมและกระทรวงต่างๆ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกือบหมด
วันนี้ หลังจากคิดมาสิบปี ผมขอเสนอให้สร้างจังหวัดเป็นหน่วยหลักในการพัฒนาประเทศ ให้จังหวัดที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคหมดไป โอนคนของกรมต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดมาเป็นคนของจังหวัดเกือบหมด ข้าราชการเหล่านี้ให้ขาดจากกรม ต่อไปนี้จะไหลเวียนอยู่ในจังหวัดหรือข้ามจังหวัดเท่านั้น เป็นคนของพื้นที่ไม่ใช่คนของกรม จังหวัดจะมีคน มีแผน มีงาน มีเงินของตนเองโดยผู้ว่าราชการจะเป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยใหม่ในการพัฒนาประเทศนี้ จังหวัดแบบใหม่นี้จะไม่ใช่ "ภูมิภาค" อีกแล้ว ครับ แต่จะเป็น"ท้องถิ่น" โดย อบจ จะหมดไป ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 4 ปี เป็นรวมกันได้ไม่เกิน 8 ปี จะไม่เห็นผู้ว่าฯที่แทบจะไม่รู้อะไรในพื้นที่เพราะย้ายมาจากแดนไกลโพ้น เป็นคนนอกร้อยเปอร์เซนต์ จะไม่เห็นผู้ว่าฯที่อยู่สามเดือนแปดเดือนก็ย้ายออกไปอีกแล้ว
ในจังหวัดจะมีท้องถิ่นระดับรองลงไปเป็นเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษหรือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง-ตำบล และ เพิ่มเติม จะมีเทศบาลอำเภอซึ่งเกิดจาก อบต ในอำเภอยุบรวมกันเข้ามา จังหวัดแบบใหม่นี้จะเป็นราชการส่วนกลางด้วย มีฐานะเสมอกรม จะเป็นหน่วยงบประมาณที่สำคัญเท่ากับกรม มีคนของตนเองที่พัฒนาไปเป็นนักพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ใช่รู้แต่ภารกิจเฉพาะ และที่สำคัญผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งนี้จะขึ้นกับนายกรัฐมนตรี จะมีความสำคัญไม่รองไปจากรัฐมนตรีเท่าไร จะมีการประชุมคณะผู้ว่าฯโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อาจจะเดือนละครั้ง คล้ายกับที่ประชุม ครม อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง
ปัญหาหลายอย่างที่คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี เช่นการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาเมืองชายแดน การสร้างรถไฟลอยฟ้าหรือรถไฟใต้ดินในเทศบาลนคร หลายกิจการเคยถกเถียงกันว่าจะเอามาให้ท้องถิ่นทำได้ไหม ทำในรูปแบบของท้องถิ่นได้ไหมเหล่านี้จะถูกนำมาเข้าที่ประชุมที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการกฤษฎีกา ผอ สำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผอ บีโอไอ ร่วมกับผู้ว่าฯ และมีรมต กระทรวงพัฒนาภาคและความมั่นคงภายในร่วมอยู่ด้วย
กระทรวงที่มีงานใหม่นี้ จะมาจากไหน ตอบว่าจากกระทรวงมหาดไทยเดิม อาจใช้ชื่อเดิมก็ได้ มีหน้าที่วางแผนและให้งบสนับสนุนการพัฒนาระดับภาคหรือระดับจังหวัดที่มีขนาดการลงทุนใหญ่เป็นพิเศษ จะให้มีราว 12 ภาค ภาคพัฒนาหนึ่งมีราว 6-8 จังหวัด แต่ผู้ว่าฯจะไม่อยู่กระทรวงนี้จะไม่ขึ้นกับ รมต เจ้ากระทรวงนี้ ย้ำอีกที ขึ้นกับนายกรัฐมนตรีครับ
ข้าราชการของจังหวัดสูงสุดจะมาเป็นรองผู้ว่าฯฝ่ายประจำ เทียบกับระดับ10 นายอำเภอเดิมจะกลายเป็นรองนายกเทศบาลฝ่ายประจำ เทียบกับระดับ9 ข้าราชการทุกส่วนงานทุกความชำนาญสามารถขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯและรองนายกเทศบาลอำเภอได้หมด ข้าราชการจังหวัดระดับสูงสุดยังอาจย้ายข้ามมาอยู่กระทรวงพัฒนาภาคโดยเป็นรองปลัดพัฒนาภาค 1-12 และสูงสุด ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงพัฒนาภาค รัฐมนตรีพัฒนาภาคต้องเป็นรัฐมนตรีอาวุโส เคยเป็น รมว พาณิชย์ เกษตรอุตสาหกรรม หรือคลังมาแล้ว และจะควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย
พูดมาถึงตรงนี้หลายคนคงถามในใจแล้วว่าผู้ว่าฯเลือกตั้งนี้จะเป็นมาเฟียมาจากอั้งยี่ ซ่องโจร ได้ไหม ผมคิดว่าอาจกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครให้สูงเป็นพิเศษ ตรวจสอบรายได้ทรัพย์สินให้ถี่ถ้วนก่อน หรือให้ผู้สมัครแนะนำตัวเท่านั้น คล้ายการเลือกตั้งสว ตามรัฐธรรมนูญปี40 หลายคนอาจถามว่าแล้วเอาชุมชนประชาสังคมในจังหวัดไปไว้ที่ไหน อาจให้จังหวัดมีสองสภา สภาแรกคัดจากสมาชิกสภาเทศบาลต่างๆ และเอามาจากการเลือกตั้งด้วย สภาที่สองเป็นสภาพลเมืองหรือสภาชุมชน-ประชาสังคม คัดมาจากผู้นำของชุมชนและประชาสังคม รายละเอียดค่อยคิดเพิ่มเติมครับ สุดท้ายนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นนายของผู้ว่าฯอย่างที่ท่านเป็นนายของข้าราชการนะครับ เพราะผู้ว่าฯนั้นในงานส่วนที่เป็นของท้องถิ่นย่อมมีอิสระและมีความริเริ่มของตนเองได้ด้วยในฐานะที่จังหวัดเป็นท้องถิ่นด้วยย่อมมีสิทธิในการพัฒนาและจัดการตนเองพอสมควร
นานมากแล้วที่เราคิดว่ารัฐเดี่ยวต้องมีส่วนภูมิภาคด้วย ขอบอกว่าญี่ปุ่นไม่มีนะครับ เขามีแต่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น จังหวัดของญี่ปุ่นเป็นท้องถิ่นครับ นานมากแล้วที่เราคิดว่าในรัฐเดี่ยวนั้นจังหวัดและอำเภอจะมีข้าราชการของตนเองไม่ได้ ความเป็นข้าราชการนั้นต้องสังกัดกรมเท่านั้น เป็นคนของพื้นที่คืออำเภอและจังหวัดไม่ได้ ขอบอกครับว่าในจีนนั้นข้าราชการที่อยู่ยังพื้นที่ ไม่ว่าในเมือง ในนครมหานคร มณฑล ล้วนไม่ใช่คนของกรมหรือกระทรวงครับ และนานมากแล้วที่การรวมศูนย์อย่างหนักได้นำความขัดแย้งเรื่องคน เรื่องงาน นโยบาย เรื่องงบประมาณ มากระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯหมด
บางทีหากปฏิรูปตามที่ผมลองเสนอมาให้ จะเพิ่มความสำคัญของจังหวัดและท้องถิ่นอื่นๆให้มากขึ้นชัดเจน อันจะชักนำให้พลังต่างๆที่ขัดแย้งแย่งชิงอะไรกันที่ส่วนกลางนี้ได้แยกย้ายกันกลับไปถิ่นกำเนิดของใครของมัน และเรื่องการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยมีจังหวัดเป็นหน่วยหลักนั้นจะขึ้นมามีความสำคัญเหนือการขัดแย้งระหว่างสี