ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ป.ป.ส. เร่งอบรมผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงาน ป.ป.ส.” กว่า 2,500 นายทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
28 ส.ค. 2563

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานต่าง ๆ เฉลี่ยปีละ 3,200 นาย ขณะเดียวกันในแต่ละปีก็จะมีการยกเลิกความเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ด้วยเหตุเช่นการพ้นหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด และเกษียณอายุราชการเฉลี่ยปีละ 2,000 นาย 

สำหรับในปี 2563 มีการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 2,628 นาย ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยการแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2545 ผู้ได้รับแต่งตั้งจะต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามหลักสูตรที่เลขาธิการ ป.ป.ส. กำหนดไว้ จึงจะได้รับเอกสารแสดงตน หรือที่เรียกว่าบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และสามารถปฏิบัติงานโดยใช้อำนาจความเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลให้ต้องชะลอการจัดฝึกอบรมดังกล่าว และด้วยขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้เร่งให้มีการจัดการฝึกอบรมผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จำนวนข้างต้นในห้วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2563 รวมทั้งสิ้น 17 รุ่น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ความจำเป็นที่กฎหมายให้มีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และให้อำนาจพิเศษในบางลักษณะซึ่งมากกว่าที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นการเข้าตรวจค้นเคหสถาน สถานที่ บุคคล หรือยานพาหนะ ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลในกรณีที่มีเหตุสมควรไม่สามารถขอหมายจากศาลได้ทัน การควบคุมตัวผู้ถูกจับเพื่อการสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลา 3 วัน และมีการเรียกให้หน่วยงานรัฐ เอกชน หรือบุคคลใด ๆ ส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ เป็นต้น ก็ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นอาชญากรรมที่มีความสลับซับซ้อน มีการแบ่งแยกหน้าที่กันตามรูปแบบขององค์กรอาชญากรรม แต่อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะต้องใช้อำนาจอย่างระมัดระวังอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์และยุติธรรม และเพื่อเป็นหลักประกันว่าเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะใช้อำนาจอย่างถูกต้อง จึงกำหนดให้ต้องมีการรายงานการใช้อำนาจทุกครั้งไปยังสำนักงาน ป.ป.ส. ดังนั้น ภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. แล้ว ก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมาย ผู้ได้รับแต่งตั้งจะต้องผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องเสียก่อน

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 14,956 ราย โดยเป็นข้าราชการในสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง และกองทัพบก เป็นต้น ซึ่งแม้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังกล่าวก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำการสืบสวนจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติของพี่น้องประชาชน และหากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือพบเห็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...