นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนอีก 30 คน ได้เข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาประมงผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากที่สมาคมได้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2563 ไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกสมาคมทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่รัฐบาลแก้ไขปัญหา IUU ได้สร้างปัญหาและอุปสรรคในการทำประมง ทั้งประเด็นข้อกฎหมายใหม่ ๆ อาทิ การค้ามนุษย์ มีการออกข้อบังคับออกมาทับซ้อนปัญหาทั้งเก่า-ใหม่ จนชาวประมงแทบจะไม่สามารถทำการประมงได้
“ปัจจุบันชาวประมงไปต่อไม่ไหวแล้วเพราะมีการออกกฎ-ระเบียบมาบังคับใช้ตลอด เมื่อใดก็ตามที่สหภาพยุโรป หรือสหรัฐ ให้ความเห็น-ติเตียน-ทักท้วงมา ทางรัฐบาลไทยก็จะกลับมาสร้างกฎ-เงื่อนไขต่าง ๆ นานาเพื่อตอบสนองความต้องการของต่างชาติจากปัญหาการค้ามนุษย์ จนชาวประมงรู้สึกท้อใจและมองว่า รัฐบาลจ้องที่จะทำลายล้างอาชีพประมง ด้วยการตั้งธงที่จะกำจัดเรือประมงออกไป” ตอนหนึ่งในหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ดังนั้น สมาคมจึงขอเรียกร้องรัฐบาลให้ดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1) ขอให้ทำการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 โดยนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และให้มีตัวแทนชาวประมงทุกภาคส่วนเข้าร่วมในการแก้ไขกฎหมายด้วย 2) ขอให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติขึ้นมา โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ใช่ “คณะทำงาน” ชุดปัจจุบัน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นมามากมาย แต่ไม่มีชุดใดเลยที่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของชาวประมง และ 3) ขอให้ “ยกเลิก” คณะกรรมการเฉพาะกิจ 2 ชุด คือ คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ฉ.1) กับคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง (ฉ.2)
ด้านนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ได้ยืนยันขายเรือคืนไปแล้วประมาณ 2,500 ลำและคาดว่าทั้งประเทศจะมีการขายเรือคืนไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำ จากเรือที่มีทั้งระบบประมาณ 12,000 ลำ ถ้ากฎหมายและกฎระเบียบยังเป็นลักษณะนี้ ชาวประมง
ก็พร้อมที่จะขายเรือคืนทั้งระบบ และจะเลิกอาชีพชาวประมงทันที เพราะ “ทำต่อไม่ไหวแล้ว” ด้านการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงกรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ผ่านทางธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงินในการช่วยเหลือชาวประมงรายละ 5.3 พันล้านบาท เวลาผ่านไป 2-3 เดือน ก็ยังไม่มีความคืบหน้า “มูลค่าความเสียหายในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ชาวประมงบางส่วนไม่ได้ทำการประมงประมาณ 3,000 ลำ ได้สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อเดือน และยังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ เสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท” นายกำจรกล่าว
และหากรัฐบาลยังไม่มีการตอบรับข้อเสนอของสมาคมใน 7-10 วันข้างหน้าก็จะนำสมาชิกเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลทันที
ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯรับที่จะนำหนังสือข้อเรียกร้องส่งให้กับนายกรัฐมนตรี และยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารทั้ง 2 ยังมีปัญหาอยู่ในขั้นตอนเสนอบอร์ด ส่วนการซื้อเรือประมงระยะที่ 3 ยังต้องรองบประมาณอยู่