นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อันมีลักษณะโดดเด่นและมีคุณค่าต่อการเที่ยวชมของนักท่องเที่ยว ต้องสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลาย พร้อมกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และทุกสาขา, ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ,ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า,ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ดำเนินการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ถูกรบกวนหรือถูกทำลายจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม เพื่อวางมาตรการป้องกันในระยาวต่อไป
จากกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวแหล่งท่องเที่ยวถ้ำนาคา ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬ จนเป็นที่รู้จักของประชาชน ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปเที่ยวชมถ้ำนาคา และมีข่าวในเชิงลบว่ามีนักท่องเที่ยวบางส่วน ได้ใช้มือสัมผัสผนังหินซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเกล็ดงู จนกลายเป็นข้อกังวลว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผนังหิน ซึ่งมีลักษณะอันโดดเด่นแห่งนี้ได้ในอนาคต ประกอบกับมีการโพสต์ข้อความ นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ได้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่มภายในแหล่งท่องเที่ยวน้ำตก ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา นั้น
ขณะที่ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 นายพันธ์ยศ กีรติพงศ์ศักดา หน.อช.ภูลังกา ได้มีประกาศปิดการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2563 เนื่องด้วยที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ขึ้นชมถ้ำนาคา ได้ละเมิดกฎที่ทางอุทยานแห่งชาติกำหนดไว้ คือ ห้ามแตะต้องกลุ่มหิน ต่าง ๆ ภายในถ้ำ และห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทา หรือพ่นสีและแป้งอันเป็นการกระทำผิดตาม มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้น อช.ภูลังกาจึงได้ประกาศปิดการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป จนกว่าทางอุทยานแห่งชาติจะดำเนินการกำหนดมาตรการปกป้องมิให้มีการทำลายทรัพยากรชาติ ซึ่งเกิดจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ไม่ปฎิบัติตามกฎที่ทางอุทยานแห่งชาติกำหนดไว้ได้
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการซักซ้อมมาตรการการป้องกันมิให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อันมีลักษณะโดดเด่นและมีคุณค่าต่อการเที่ยวชมของนักท่องเที่ยวโดยส่วนรวม ต้องสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลาย เช่น ผนังหินอันมีลักษณะคล้ายเกล็ดงูในอช.ภูลังกา ภาพเขียนสีโบราณตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ ฯลฯ จึงขอให้สบอ.ทุกแห่ง กำชับให้หน่วยงานในสังกัดซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ประสานเจ้าหน้าที่สถาปนิก ซึ่งประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หรือเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง เพื่อดำเนินการออกแบบและจัดสร้างอุปกรณ์ที่เหมาะสม สำหรับป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปขีดเขียนรูปภาพข้อความ การขูดขัดขีดหิน การปักธูป โรยแป้งส่องเลขเสี่ยงโชค การใช้มือสัมผัสบนผนังหิน การขีดเขียนผนังถ้ำ ก้อนหินขนาดใหญ่ ตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าอันโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยว
2. กำชับหน่วยงานในสังกัดทุกแห่งให้เข้มงวดตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องห้ามมิให้นำเข้าไป หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่หมั่นตรวจตราตามสถานที่แหล่งท่องเที่ยว ลานกางเต็นท์ ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมต่อการนำเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เข้าไปดื่มภายในเขตอุทยานแห่งชาติ อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่ง ดำเนินการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ถูกรบกวน ถูกทำลายจากนักท่องเที่ยว เช่น การขีดเขียนรูปภาพข้อความ การขูดขัดขีดหิน การปักธูป โรยแป้งส่องเลขเสี่ยงโชค การใช้มือสัมผัสบนผนังหิน การขีดเขียนผนังถ้ำ ก้อนหินขนาดใหญ่ ตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตลอดจนพฤติกรรมอื่นๆที่เป็นการทำลายในลักษณะเดียวกัน พร้อมทั้งให้รายงานผลกับผู้บริหารรับทราบโดยด่วน และให้สำนักอุทยานแห่งชาติ ,สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด รวบรวมรข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งให้ประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แล้วรายงานผลให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯทราบโดยด่วน ต่อไป