นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำและแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำ ปี 2563/64 ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ว่า จากรายงานผลการดำเนินงานของทุกภาคส่วนกล่าว ทำให้ทราบว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ได้สั่งการให้บริหารตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยจะต้องคำนึงถึงการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก และในส่วนของภาคการเกษตร ที่สามารถทำการเกษตรได้ จะให้ดำเนินการ แต่ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำ จะให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วยดูแล ให้คำแนะในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจากการคาดการว่าจะที่ปริมาณน้ำน้อย ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีน้ำใช้ เพราะจากการคำนวนจากพื้นที่เก็บกักน้ำและเทียบสถิติในปีที่ผ่านมา รวมถึงการบริหารจัดการ จึงยืนยันได้ว่าน้ำเพื่ออุปโภคไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ส่วนน้ำในภาคการเกษตรจะดูตามความเหมาะสมต่อไป
สำหรับพายุโนอึลที่จะเข้าในประเทศไทยจะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน โดยจะต้องมีการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าพายุที่จะเข้านี้ได้ประโยชน์ต่อเนื่อง โดยจะทำให้มีน้ำกักเก็บ รวมถึงได้ส่งเสริมทั้งภาคเกษตรและการท่องเที่ยวอีกด้วย
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงวันที่ 18 - 19 กันยายน 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น และจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้อ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคนผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์น้ำ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ รถขุด รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานเข้าประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ
สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังคงมีปริมาณจำกัด ปัจจุบัน (16 ก.ย.63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ มีปริมาณรวมกันประมาณ 36,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 12,946 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,152 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,456 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (16 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,363 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,339 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนกักเก็บน้ำและป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง โดยได้มีการปรับแผนร่วมกับกรมชลประทานทุกเดือน ปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ มีผลปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 14 กันยายน 2563 มีวันขึ้นปฏิบัติการรวม 208 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 206 วัน คิดเป็นร้อยละ 99.04 จังหวัดที่มีรายงานฝนตก รวม 67 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 196.88 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำรับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 214 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 180 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 2,570.884 ล้าน ลบ.ม.