นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินการตามแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ว่า ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านอื่นๆ ของจังหวัดเพชรบุรี โดยสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจมีการรายงานผลผลิตภาคการเกษตรตกต่ำจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคากุ้งและราคาปลากะพงตกต่ำ เนื่องจากตลาดต่างประเทศไม่มีคำสั่งซื้อหรือซื้อน้อยลง จึงเกิดภาวะล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้ลดลง จึงได้มีแนวทางในการแก้ไข
โดยกรมประมงได้วางแผนร่วมกับชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้งขาว และจัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 - 2564 โดยช่วยเหลือลูกพันธุ์กุ้งไม่เกิน 40,000 บาท/ราย และสำหรับการดำเนินการของผลผลิตปลากะพง สำนักงานประมงจังหวัดได้ประสานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในการหาแหล่งรับซื้อผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร "เกลือทะเล (เกลือสมุทร)" โดยปัจจุบันมีพื้นที่ทำนาเกลือ81,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ 29,000 หรือร้อยละ 47 โดยปัญหาในขณะนี้คือมีการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ และถูกเกลือสินเธาว์ตีตลาด เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง "เกลือบริโภค" ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีการตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ข้อมูลด้านการเกษตรของจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่เกษตรกรรม 882,695 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.69 ของพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น ปลูกข้าว 315,828 ไร่ พืชไร่ 236,363 ไร่ พืชสวน 209,485 ไร่ และการเกษตรอื่นๆ 121,019 ไร่ โดยมีพื้นที่ชลประทาน656,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.00 ของพื้นที่เกษตรกรรม โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 264 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างรวมกัน สำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูฝนของจังหวัดเพชรบุรี ปี 2563/2564 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีแผนการเพาะปลูกทั้งสิ้น 158,320 ไร่ แบ่งออกเป็นในเขตพื้นที่ชลประทาน 129,670 ไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 28,650 ไร่ ปัจจุบันทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 44,782 ไร่
"นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชน จึงมีแนวทางให้ตัวแทนของรัฐบาลมารับฟังปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งในวันนี้จะรับข้อเสนอทุกข้อ เพื่อรวบรวมประเด็นต่างๆ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนไหนที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้จะดำเนินการแก้ไขในทันที นอกจากนี้ ได้มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด ให้บูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ต้องรับฟังและรู้ปัญหาที่แท้จริงจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด อีกทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อประชาชน มีการส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีระบบการป้องกันเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งวิกฤตในครั้งนี้ต้องทำให้เป็นโอกาสให้ได้ จึงได้มีมาตรการในเชิงรุก และอยากให้ทุกภาคส่วนยังคงดำเนินตามมาตรการที่เข้มงวดต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว