นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมแปรรูปยางของไทยมีทิศทางเป็นบวก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 12-15% ในทุกปี มีมูลค่าการส่งงอกประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาทต่อปี และการเติบโตได้ก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 บวกกับประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ทำให้ความต้องการเข้าถึงคุณภาพที่ดีด้านสุขภาพมากขึ้นตามไปด้วย เกิดช่องทางในการเปิดตลาดใหม่ ๆ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตถุงมือรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ มาเลเซีย มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 60 โดยมีประเทศไทยเป็นอันดับสอง มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 15 ทั้งนี้ผู้ซื้อถุงมือยางรายใหญ่ของโลกคือประเทศทางฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่มีความต้องการใช้ถุงมือยางรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการโลก และนำเข้าถุงมือยางจากมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่
"ขณะนี้ กยท.ทำงานวิจัยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) พัฒนาจนได้เทคโนโลยีที่สามารถควบคุมระดับโปรตีนในถุงมือยางได้ต่ำกว่า 200 ไมโครแกรมตามมาตรฐานของอเมริกาและประเทศฝั่งยุโรปซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ งานวิจัยเริ่มออกจากห้องปฏิบัติการเพื่อไปสู่สายการผลิตจริงแล้ว ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ช่วยขยายโอกาสการเปิดตลาดให้อุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย ในอนาคตคาดว่ามูลค่าการส่งออกถุงมือยางจะเพิ่มขึ้นถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้นก้าวต่อไป กยท.จะได้ร่วมบูรณาการการทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมยางในมิติอื่นอันจะผลักดันให้อุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของเราก้าวสู่อันดับหนึ่ง และประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก"
ผู้ว่า กยท. กล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมถุงมือยางให้ก้าวได้อย่างมั่นคง คือความสามารถในการลงทุน กยท.จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน อาทิ มาตรการการลดหย่อนภาษี กิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การยกเว้นอากรวัตถุดิบเพื่อการวิจัยพัฒนา หรือการขอรับทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนก็ได้เช่นกัน รวมไปถึงร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อผลักดันตลาดส่งออก เช่น จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและนักลงทุนจากต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของประเทศไทย
"สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราก้าวไปเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลกอีกประการคือ การทำราคาต้นทุนต่อหน่วยให้สามารถเทียบเท่ารายใหญ่อย่างมาเลเซียได้ ซึ่งรวมถึงระบบเครื่องจักร ระบบขนส่ง มาตรฐานการตรวจสอบที่ต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ออกจากประเทศไทยมีราคาที่ดีและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ กระบวนการทั้งหมดจะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานนอกจากที่กล่าวข้างต้น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการถุงมือยาง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ฯลฯ ที่ช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยางเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้เรื่อย ๆ ในอนาคต"
นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า การยางแห่งประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยางทั้งระบบให้เกิดเป็นรูปธรรมและก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งยางพาราของประเทศไทยมีศักยภาพที่ทำได้ ต่อจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราธรรมชาติ ที่ กยท.ได้ร่วมค้นคว้าวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อีกหลายชิ้นที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและพร้อมจะนำออกสู่ตลาดได้ต่อไป
"เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อการตลาดเดินหน้าไปได้ดี เกิดการผลิตสินค้าจากยางพาราธรรมชาติของไทยที่มีมูลค่าอย่างต่อเนื่อง เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น เกษตรกรชาวสวนยางหรือสถาบันเกษตรกรก็จะมีความเชื่อมั่นในอาชีพปลูกยาง สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนสู่สังคมชาวสวนยาง รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย"