นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ภาคเอกชนต้องการให้ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 22 ต.ค. นี้ ว่า จะเป็นหน้าที่ของ ธปท. เป็นผู้พิจารณาในเรื่องดังกล่าว
แต่ทั้งนี้ ตามหลักการ ควรจะมีการกำหนดระยะเวลาการพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสมเป็นระยะเวลานาน และหลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ก็ควรจะต้องใช้มาตรการปรับ 2 ต่อ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
“ผู้ประกอบการพักชำระหนี้จะต้องมีระยะเวลาที่แน่นอน ถ้าหากไม่แน่นอน เมื่อมีเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็จะมีความคาดหวังและรอให้ยืดเวลาพักชำระหนี้ต่อ ผู้ประกอบการก็จะไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างธุรกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงได้สั่งในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ว่าให้เอกชนกลับไปคุยกันก่อน”
ทั้งนี้ ศบศ. ได้มอบให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปหารือแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพราะหากรัฐบาลช่วย ก็จะสามารถช่วยได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าระยะเวลาหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีการชำระหนี้ ฉะนั้น จะต้องเข้าไปปรับในเรื่องดังกล่าวด้วย
ขณะที่ปัญหาการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน) ของธปท.นั้น กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และธปท. เพื่อดูตัวเลขการขอสินเชื่อ เงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร และมีผลกับการขอสินเชื่อแต่ละภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะรวมไปถึงธุรกิจสายการบินด้วย
ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ธุรกิจที่ดำเนินอยู่ก็คงต้องเดินต่อไป เพราะทุกวินาทีเป็นเงินเป็นทองไม่มีใครอยากเสียเวลาแม้แต่วินาทีเดียว ทั้งเรายังมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้