องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ลงนามกับเครือข่าย TRBN ร่วมทำโครงการ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน
คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่าย เพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทเอกชน องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาการและประชาสังคม 38 องค์กรมาร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กว้างขวางและพัฒนาอย่างเป็นระบบอย่างแท้จริง “เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความตื่นตัวกันทั่วโลก และมีความจำเป็นเพราะทรัพยากรมีจำกัดขึ้นทุกวัน ฉะนั้นการนำขยะกลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก”
รายงานจากกรมควบคุมมลพิษเผยว่าในปี 2562 ประเทศไทยผลิตขยะ ประมาณ 28.7 ล้านตัน แต่ขยะมูลฝอยที่ได้รับการคัดแยกขยะต้นทางและนำกลับไปใช้ประโยชน์มีปริมาณเพียง 12.6 ล้านตัน (ร้อยละ 44)
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึงปีละ 12% โดยในจำนวนนี้เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวประมาณ 80% กับมีขยะพลาสติกหลุดรอดไปในทะเลมากถึงปีละ 30,000 ตัน สำหรับขยะในเมืองนั้น พบว่าเป็นเศษอาหารในสัดส่วนสูงถึง 64%
อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤตโควิด-19 กระตุ้นพฤติกรรมการสั่งสินค้าและอาหารมาส่งถึงบ้าน ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกเฉพาะในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
“เศรษฐกิจหมุนเวียนมีการดำเนินงานกันบ้างแล้ว แต่กระบวนการไปสู่ความสำเร็จยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในด้านของการรวบรวมและคัดแยก ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะช่วยชาวไทยทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม”
TRBN จึงเชิญบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีนโยบายและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และบริษัทเอกชนที่เป็นคู่ค้าหรือบริษัทในห่วงโซ่การผลิตและจัดการ มาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดในวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ แยกปทุมวัน-ราชประสงค์ เพื่อจัดการทรัพยากรให้ครบวงจร เพื่อร่วมกันสร้างระบบและนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้ง การเก็บข้อมูล ประเมินผล และถอดบทเรียนเชิงวิชาการ
“การลงนามความร่วมมือโครงการหมุนเวียนเปลี่ยนโลกในวันนี้ก็เพื่อร่วมดำเนินโครงการบนพื้นที่แยกปทุมวัน-ราชประสงค์ เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 - ธันวาคม 2564 โดยมีเป้าหมายจะรวบรวมวัสดุใช้แล้วที่สะอาดและแห้งเข้าระบบการรีไซเคิลให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตัน จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการนำไปใช้ใหม่ของแต่ละองค์กร”
TRBN ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในช่วงต้นปีโดยนำร่องเปิดจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้ง 10 จุดบนถนนสุขุมวิท ได้ผลเป็นที่น่าพอใจคือมีประชาชนนำขยะพลาติกมาส่ง 2.2 ตัน ในเวลา 90 วัน และสามารถลำเลียงเข้ากระบวนการรีไซเคิลร้อยละ 90
“เราคาดหวังว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ผลิตขยะ ผู้รวบรวม รีไซเคิล จนครบกระบวนการ เพื่อให้ประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ กว้างขวางต่อไป”