เมื่อวันที่ วันที่ 19 ต.ค.2563 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ร้อง นายอดิศักดิ์ พรหมทา ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้อง อุทธรณ์คัดค้าน คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 20 เดือน พฤศจิกายน 2562 ที่พิพากษายกคำร้อง คดีผู้ถูกกล่าวหา จงใจ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่ง ทรัพย์สินและหนี้สินนั้น กรณีพ้นจากตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา และให้พ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายก อบจ. มุกดาหารที่ดํารงอยู่ในปัจจุบัน กับลงโทษทาง อาญากรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดํารงตตำแหน่งสมาชิกสภา อบจ.มุกดาหาร และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายก อบจ.มุกดาหาร ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 81, 114, 167 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
เรื่อง การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ผู้ร้อง อุทธรณ์คัดค้าน คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 20 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2562
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับวันที่ 29 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2563
ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจงใจ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่ง ทรัพย์สินและหนี้สินนั้น กรณีพ้นจากตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในการดํารง ตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา และให้พ้นจากตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารที่ดํารงอยู่ในปัจจุบัน กับลงโทษทางอาญากรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วน จังหวัดมุกดาหาร และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 81, 114, 167 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษา ยกคําร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิเคราะห์คําร้องประกอบกับเอกสารตามคําร้อง และ คําให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งให้ ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2551 และพ้น จากตําแหน่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเลขานุการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และยังดํารงตําแหน่งจนถึง ปัจจุบัน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติ หน้าที่นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งให้รับคําร้องไว้พิจารณา ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตําแหน่งสมาชิกสภา องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร โดยไม่แสดงรายการทรัพย์สิน ได้แก่ เงินลงทุน 1 รายการ และไม่แสดงรายการหนี้สิน ได้แก่ รายการหนี้สินกรณีซื้อขายรถยนต์แบบมีเงื่อนไขบังคับ 1 รายการ และกรณี เข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ไม่แสดงรายการทรัพย์สิน ได้แก่ รถยนต์ 2 คัน และไม่แสดงรายการหนี้สิน ได้แก่ รายการหนี้สินกรณีซื้อขายรถยนต์แบบมีเงื่อนไขบังคับ 1 รายการ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานจงใจยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และกรณีเข้ารับตําแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารขาดอายุความทางอาญา กับกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีในการดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่ได้บัญญัติว่าการ กระทําเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป คู่ความไม่อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติไปตามคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเพียง ประการเดียวว่า มาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 หรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 สามารถนํามาบังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาในกรณีคดีขาดอายุความได้หรือไม่
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า มาตรการบังคับทางการเมืองเป็นมาตรการพิเศษแยกจากมาตรการทางอาญา มิใช่เป็นเพียงโทษอุปกรณ์หรือโทษข้างเคียง ของโทษทางอาญา เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 เป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดจึงต้องนํามาบังคับแก่คดีนี้ มาตรการบังคับทางการเมืองไม่ใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ย่อมไม่อาจนําเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความมาใช้บังคับได้ มาตรการบังคับทางการเมืองจึงไม่มีอายุความ นั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 หรือการห้ามมิให้ ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นจาก ตําแหน่ง และให้พ้นจากตําแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ถือเป็นมาตรการบังคับทางการเมืองอันเป็นการจํากัด สิทธิของบุคคลในการแสดงออกในฐานะพลเมืองของรัฐอันสืบเนื่องมาจากการกระทําความผิดทาง อาญา โดยศาลจะมีอํานาจบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดตามที่ ผู้ร้องเสนอว่าผู้นั้นจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายในเวลาที่กําหนด หรือจงใจ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบซึ่งเป็นความผิดอาญา การที่กฎหมายกําหนดให้มาตรการบังคับทางการเมืองรวมเป็นส่วนหนึ่งของ คดีอาญาเช่นนี้ จึงไม่อาจแยกออกจากการวินิจฉัยความผิดทางอาญาได้ เห็นได้ว่ากฎหมายมิได้มี วัตถุประสงค์จะให้มาตรการบังคับทางการเมืองนี้เป็นมาตรการหลักที่แยกจากโทษทางอาญาดังที่ผู้ร้อง กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งหากจะถือว่าการบังคับมาตรการบังคับทางการเมืองไม่มีอายุความดังที่ผู้ร้อง อุทธรณ์แล้ว ก็อาจจะทําให้ระยะเวลาล่วงเลยไปจนยากที่จะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ตรงต่อความ เป็นจริง อีกทั้งมาตรการบังคับทางการเมืองดังกล่าวเป็นมาตรการเชิงป้องกันการทุจริตจึงต้องบังคับ โดยเร็ว มิฉะนั้นหากผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งนั้นไปเกินกว่าห้าปีแล้ว การที่จะบังคับมาตรการ บังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ย่อมเป็นอันไร้ผลโดยสิ้นเชิงซึ่งไม่น่าจะใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย ดังนี้ มาตรการบังคับทางการเมืองดังกล่าวซึ่งมิใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ย่อมต้องอยู่ภายใต้หลักทั่วไปของคดีอาญารวมถึงอยู่ในบังคับอายุความทางอาญา เมื่อคดีนี้ ขาดอายุความทางอาญาอันมีผลให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้ว แม้ผู้ถูกกล่าวหาให้การ รับสารภาพก็ไม่อาจนํามาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 มาใช้บังคับแก่ ผู้ถูกกล่าวหาได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น