นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แนวทางการดำเนินการให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2564 ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไป
เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศต้นทางที่สำคัญ ในการจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิของคนต่างด้าวที่จะได้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยขั้นตอนการให้สิทธิแรงงาน สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขั้นตอนดำเนินการ คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MoU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 31 ธันวาคม 2564 ที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป อีก 2 ปี ต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.คนต่างด้าวตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขออนุญาตทำงาน และขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป
2.คนต่างด้าวยื่นขออนุญาตทำงาน โดยกรมการจัดหางานเป็นผู้ออกใบอนุญาตทำงานให้ ตามระยะเวลาที่ผู้ขออนุญาตร้องขอแต่ไม่เกิน 2 ปี 3.คนต่างด้าวยื่นขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (Visa) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ค่าธรรมเนียมคำขอ 1,900 บาท โดยยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดแก่คนต่างด้าวที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2563 4.การจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำวิธีการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย