สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมจัดงาน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2563” (National Science and Technology Fair 2020) ระหว่างวันที่ 13 -23 พฤศจิกายน 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มุ่งเน้นขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานราก โชว์นิทรรศการ “TISTR BCG … Being the better life” ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก่เยาวชน ด้วยผลงานวิจัยพัฒนาด้าน Circular Economy ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทางสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า BCG Economy Model เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่จะพาประเทศก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกขับเคลื่อน
การเข้าร่วมจัดนิทรรศการมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ วว.นำเสนอผลงานตามนโยบาย BCG Economy Model และโครงการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ภายใต้แนวคิด “TISTR BCG … Being the better life” โดยการถ่ายทอดความรู้ด้าน วทน. ให้แก่เยาวชน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง มุ่งสร้างความตระหนักและความสนใจด้าน วทน. ให้แก่กลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนและประชาชนทั่วไป หวังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการนำ วทน. ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของประเทศ โดยมีการจัดแสดงผลงาน 3 โซนกิจกรรม ดังนี้
โซนที่ 1 นิทรรศการให้ความรู้และภาพรวมผลงาน วว. กับ BCG นำเสนอการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy Model โดยการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้ วว. ผลิตผลงานวิจัยซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้นำไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs วิสาหกิจชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 12 ผลงานเด่น ได้แก่ ฐานข้อมูลจุลินทรีย์และการนำไปใช้ประโยชน์ โพรไบโอติก สารชีวภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD) เห็ดเพื่อชุมชน ลำตะคองโมเดล เมืองน่าอยู่ และฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ (PROSEA) นวัตอัตลักษณ์ วว. การจัดการขยะชุมชนด้วย วทน. อบต. ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พลังงานชีวมวล เซรามิก ยางพารา และบล็อกประสาน ไม้ดอกไม้ประดับ
“...การดำเนินงานขับเคลื่อน BCG Economy Model ของ วว. มุ่งหวังให้ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
โซนที่ 2 Highlight ผลงานเด่น วว. ด้าน Circular Economy นำเสนอผลงานวิจัย “หินกรองตู้ปลาบำบัดน้ำจากเปลือกหอย” หรือตู้ปลามีชีวิต ผลสำเร็จในการดำเนินงานของ วว. ร่วมกับเทศบาลเมืองแสนสุข วิสาหกิจชุมชนเขาสามมุข และชุมชนเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี ภายใต้โครงการส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบการเชื่อมโยงเครือข่าย Quadruple Helix เพื่อการพัฒนาแนวทางการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเปลือกหอยนางรม
“หินกรองตู้ปลาบำบัดน้ำจากเปลือกหอย” เป็นนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากเปลือกหอยนางรม โดยใช้ วทน.เข้ามาจัดการขยะชุมชน ช่วยลดปริมาณขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตอัตลักษณ์ในพื้นที่ ผลิตภัณฑ์มีจุดเด่น 1.เปลือกหอย ประกอบด้วย แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เปลี่ยนให้เป็นสารที่มีคุณสมบัติบำบัดน้ำได้ 2.เป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มจากเปลือกหอย ที่นำมาพัฒนาเป็นหินกรองตู้ปลา มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกำจัดแอมโมเนียและฟอสเฟตในน้ำได้ และ 3.มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียที่มีปัญหาจากแอมโมเนียและฟอสฟอรัสได้ โดยมีอายุยาวนานถึง 3 เดือน ภายหลังเลิกใช้งาน สามารถนำไปเป็นวัสดุปรับสภาพดินได้
นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ ด้านเศรษฐกิจ คือ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านสังคม 1.ชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้การจัดการขยะและของเหลือทิ้งเชิงพื้นที่ 2.ชุมชนนำแนวคิด ความรู้ ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสม ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาจากกลิ่นและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการกองทิ้งเปลือกหอยนางรม
โซนที่ 3 กิจกรรมร่วมสนุกแบบวิถี New Normal ร่วม Check in ถ่ายภาพ ในบรรยากาศอะควาเรี่ยมหรรษา พร้อมกิจกรรมตอบปัญหา ร่วมสนุกแชร์แลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จากบูธนิทรรศการของ วว. โดยจัดกิจกรรมเป็นรอบๆ พร้อมรับของรางวัลเป็นที่ระลึกมากมาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนและต่อยอดความคิดสู่การหล่อหลอมเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
“...วว. เชื่อมั่นว่านิทรรศการ TISTR BCG … Being the better life ซึ่งได้นำมาโชว์ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตามเจตนารมณ์การจัดงานของกระทรวง อว. ที่ว่า...จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ สร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน...” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวสรุป