นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การประชุมสัมมนา เรื่อง การแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ ทางออกเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางธรรมชาติ ถือเป็นการเปิดมิติการวิจัยแบบเจาะลึกที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยการวิจารณ์ หาข้อสนับหรือโต้แย้ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคถุงมือยางพาราในวงกว้าง โดยจุดอ่อนที่น้ำยางธรรมชาติถูกโจมตีมากที่สุดคือ เรื่องโปรตีนที่อยู่ในยาง ซึ่งบางคนมีการแพ้แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ทั้งนี้ องค์ความรู้ในปัจจุบัน เราสามารถทำยางธรรมชาติที่มีโปรตีนต่ำในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
“ยางพาราธรรมชาติโปรตีนต่ำ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้แล้ว การนำงานวิจัยไปตีพิมพ์ เผยแพร่ต่อในเวทีระดับนานาชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ดังนั้น กยท. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมมือกันสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้ใช้ยางพาราและถุงมือยาง ตลอดจนวงการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้ เข้าใจ อันจะส่งผลต่อวงการยางพาราเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราและเสถียรภาพราคายางต่อไปในอนาคต” นายประพันธ์ กล่าว
รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีถุงมือยางเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทสัญชาติอเมริกันสนใจจดสิทธิบัตรเรื่องยางธรรมชาติมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยียางพาราที่นำมาทำถุงมือแพทย์ ยังมีความต้องการอยู่ แม้ส่วนหนึ่งอาจเกิดการแพ้จากโปรตีน แต่ในเทคโนโลยีโพลิเมอร์ การสังเคราะห์โพลิเมอร์ก็ถือเป็นสารโลหะหนัก ที่อาจมีโอกาสออกมาทำเกิดโอกาสแพ้ได้เหมือนกัน
“การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการหาคำตอบเรื่องการแพ้โปรตีนในถุงมือยางธรรมชาติ ว่ามีความจริงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวได้ถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ผู้คนเจ้าใจผิดเกี่ยวกับถุงมือยางธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ”
ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่ใช้ถุงมือยางธรรมชาติในการปฏิบัติการทางการแพทย์ เผยว่า จากการวิจัยและนำถุงมือยางธรรมชาติให้แพทย์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง พบว่า ไม่เคยมีอาการแพ้ แต่ถ้าเป็นถุงมือของต่างประเทศ ที่เป็นประเภทถุงมือสังเคราะห์ จะมีอาการคัน ผิวแห้ง และมีอาการระคายเคืองบนบริเวณหลังมือ จึงเป็นโจทย์วิจัยที่อยากจะค้นหาว่า ในความเป็นจริง
“ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตน้ำยาง ทำไมเราไม่ผลิตถุงมือยางธรรมชาติเอง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศของเรา จากการใช้งานในฐานะผู้ใช้ จนกลายเป็นผู้ศึกษาวิจัย ต้องการบอกผู้ผลิตว่า ควรผลิตถุงมือยางพาราธรรมชาติ เพราะเมื่อเทียบกับยางสังเคราะห์แล้ว ถุงมือยางธรรมชาติมีความยืดหยุ่นดีกว่า ไม่มีความแข็งกระด้าง ใส่แล้วเข้ารูปกว่า และประสิทธิ์ภาพในการใช้งานทางการแพทย์”
รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวต่อว่า เราต้องร่วมมือกันวิจัยเรื่องนี้ เพื่อให้รู้ว่ายางพาราธรรมชาติและยางสังเคราะห์มันแตกต่างกันหรือไม่ การแพ้ของผู้ใช้แต่ละคนอาจไม่ได้มาจากตัวถุงมือเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นสารจากตัวทำละลาย สิ่งแวดล้อมและสารเคมีอื่นที่อยู่รอบตัวผู้ใช้เอง