ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
หมู่บ้านดงเย็น ท่องเที่ยวอินทรีย์ 100% รากเหง้า พระพุทธศาสนาแดนสุวรรณภูมิ
04 ธ.ค. 2563

ท่องเที่ยวชุมชน

หมู่บ้านดงเย็น ท่องเที่ยวอินทรีย์ 100%

รากเหง้า พระพุทธศาสนาแดนสุวรรณภูมิ

หมู่บ้านดงเย็นเป็นหมู่บ้านของชาวลาวครั่ง โดยชาวลาวครั่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานจากประเทศลาวในแถบหลวงพระบาง และมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเทือกเขาที่ชื่อว่าภูคัง จนเพี้ยนมาเป็นลาวครั่ง

เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 ชาวลาวกลุ่มใหญ่ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสยาม และกระจายตัวอาศัยอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือ จากนั้นพอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวลาวครั่งก็ได้อพยพจากนครปฐมมาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภออู่ทองอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งหมู่บ้านดงเย็นเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีชาวลาวครั่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนในชุมชนมีการทำนา ทำไร่ ปลูกผักปลอดสารพิษ ใช้แนวคิดแบบเกษตรอินทรีย์ เดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้เล็งเห็นศักยภาพของทางชุมชน จึงได้สนับสนุนและสร้างองค์ความรู้ให้คนในชุมชน จนกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ และมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดงเย็นเพื่อนพึ่งภาฯ เป็นเครือข่ายการปลูกพืชผลทางการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้น้ำหมักตามธรรมชาติ มีทั้งผักสดและผลไม้ ซึ่งเป็นการเกษตรแบบพึ่งตนเอง จึงทำให้ที่นี่มีพืชผักมาบริโภคกันตลอดทั้งปี

ชาวบ้านดงเย็นทำอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็ประสบกับความเจ็บป่วยสูญเสียคนในครอบครัว เพราะเป็นเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมี พวกเขาจึงเปลี่ยนมาเดินตามศาสตร์พระราชาตามแนวทฤษฎีเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ นอกจากนี้ พวกเขายังรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจวนเกษตรดงเย็น เพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมกันนำผลผลิตไปจำหน่าย และเป็นแหล่งให้คนที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้ศึกษาดูงาน ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น หนึ่งในผู้ริเริ่มรวมกลุ่มชาวบ้านดงเย็น อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักปลอดสารเคมี เพื่อสุขภาพดีและแข็งแรงของคนในชุมชน ปัจจุบันขยายผลสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ที่มาเพิ่มองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน เนื่องจากชุมชนบ้านดงเย็น ทำการเกษตรที่หมู่บ้านนี้ใช้คำว่า เกษตรอินทรีย์ 100% ได้อย่างแท้จริง  

บ้านแต่ละหลังรายรอบด้วยผักหลากหลายชนิด ซึ่งเด็ดกินได้อย่างปลอดภัย ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่ใครอยากชิมรสมือแม่ครัวชาวบ้านก็แจ้งได้ล่วงหน้า เป็นเมนูที่ทำกินกันในครัวเรือนและใช้วัตถุดิบหลักจากชุมชน ตัวอย่างเช่น น้ำพริกกะปิเคียงด้วยผักสดผักลวก ไข่เจียวสีเหลืองสวยที่ใช้ไข่จากแม่ไก่อารมณ์ดี ดอกชมจันทร์ผัดน้ำมันหอย ปลาดุกผัดพริกแกงที่ใช้ปลาดุกจากบ่อเลี้ยง กับพริกแกงที่เก็บข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ข้างรั้วบ้านมาตำเอง เสิร์ฟพร้อมข้าวอินทรีย์ร้อนๆ หอมนุ่มลิ้น

นอกจากเมนูธรรมดาๆ แต่อร่อย ชาวบ้านดงเย็นยังเตรียมโปรแกรมปั่นจักรยานท่องเที่ยวชุมชนไว้รองรับด้วยการปลูกผักแบบปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ แวะทักทายแม่ไก่อารมณ์ดีตัวอ้วนพี เพราะอิ่มหมีด้วยพืชผัก ไม่ใช่อาหารเม็ดหรือสารเร่ง ท้ายสุดยังได้ช็อปผักสด ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงต้นกล้าพืชพันธุ์ต่างๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย

โดยนักท่องเที่ยวจะได้ปั่นจักรยานสร้างสุข เรียนรู้วิถีการเกษตรจากชาวบ้านดงเย็น ทุกๆ บ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดตามรั้วบ้าน และกระถางวัสดุเหลือใช้ เช่น ถัง กะละมัง ตะกร้า ถึงเวลาก็รดน้ำใส่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทำจากไส้เดือนและมูลสัตว์ จึงทำให้ผักปลอดสารพิษ มีสีเขียวสวยงามน่ารับประทาน และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ บางบ้านยังเพาะเห็ดนางฟ้าดอกโตๆ ในโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ รวมทั้งเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีแบบธรรมชาติ ปล่อยอิสระ มีพื้นที่ให้ไก่ได้วิ่งเล่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ออกไข่มามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งนี้ ยังได้มีการเดินทางไปยังพุทธมณฑลประจำเมืองสุพรรณบุรี ปักหมุดวัดเขาทำเทียม ตระการตากับความยิ่งใหญ่อลังการของอันซีนแห่งเมืองอู่ทอง “พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” (หลวงพ่ออู่ทอง) สักการะพระพุทธรูปปางโปรดพุทธมารดา แกะสลักอยู่บนหน้าผาหินปูน ว่ากันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เดินตระเวนชมภาพแกะสลักโดยรอบของหน้าผา ที่เล่าเรื่องราวพุทธประวัติได้อย่างสวยงาม แวะถ้ำมังกรบิน ภายในมีพระแม่ธรณีให้ได้กราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ มีชื่อว่า พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือหลวงพ่ออู่ทอง ตั้งอยู่ใกล้วัดเขาทำเทียม ที่หน้าผามังกรบิน ณ พุทธมหาสถานเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  องค์หลวงพ่ออู่ทอง มีความสูง 108 เมตร ฐานกว้าง 88 เมตร หน้าตักกว้าง 65 เมตร อยู่ในพื้นที่ราว 100 ไร่  เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความสวยงามแปลกตาและหน้าผาหินที่รายล้อมองค์พระพุทธรูป ทำให้นักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนมาทำบุญ ถ่ายภาพอย่างไม่ขาดสาย

โดยที่แห่งนี้เป็นเขตพื้นที่ ที่กรมศิลปากรยืนยันว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ และหลักฐานทางโบราณคดีที่มีข้อพิสูจน์ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย พระองค์ส่งพระธรรมทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา 9 สาย สายที่ 8 ส่งทรงพระโสณะและพระอุตตรเถระ เข้ามาดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 3 ซึ่งปรากฏร่องรอยพระพุทธศาสนาในอู่ทอง พระเจ้าอโศกยังสร้างวัดวาอารามไว้มากมาย อย่างวัดปุษยคีรีสังฆาราม ในแคว้นกลิงคะ เป็นต้น พอดีชื่อมาพ้องกับจารึก “ปุษยคีรี” ดังหลักฐานจารึกศิลา "ปุษยคีรี" และธรรมจักรบนยอดเสาอโศก ที่บริเวณภูเขาใกล้กับ วัดเขาทำเทียม ใกล้ๆ กับที่สลักพระ อาจเป็นได้ว่า ชื่อจารึกมาจากพระธรรมทูตทั้งสองนำชื่อบ้านนามเมืองของท่านมาสลักไว้ก็อาจเป็นได้

ด้านหลังพระพุทธรูปบริเวณหน้าผา มีการเจาะช่องอุโมงค์หินเป็นถ้ำลึกประมาณ 20 เมตร  ภายในอุโมงค์ประดิษฐานพระแม่ธรณีบีบมวยผม พระพุทธรูปศักดิ์ต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชา  สามารถเดินลอดผ่านได้ อากาศเย็นสบาย เพราะมีลมพัดผ่านเข้ามาตลอด มีทัศนียภาพรอบด้านสวยงาม มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่และศาลานั่งชมวิว

การก่อสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อใช้เป็นอุทยานทางพระพุทธศาสนา และให้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดสุพรรณบุรี การออกแบบพระพุทธรูปที่จะใช้แกะสลักบนหน้าผาของเขาทำเทียม โดยจะให้เป็นพระพุทธรูปที่มีลอยนูน เป็นพระพุทธรูปที่มีความสวยงาม พระพุทธรูปองค์นี้นอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังเป็นประธานและเป็นหัวใจหลักของอุทยานทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้ สำหรับหน้าผาโดยรอบ จะเป็นภาพแกะสลักเรื่องราวสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...