ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
อุทธาหรณ์ถึงผู้บริหารท้องถิ่น จากคดีผู้บริหารระดับสูง ททท. ทุจริต
04 ธ.ค. 2563

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

 

อุทธาหรณ์ถึงผู้บริหารท้องถิ่น

จากคดีผู้บริหารระดับสูง ททท. ทุจริต

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ไม่กี่วันข้างหน้า เราก็คงเห็นหน้าตานายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ.กันทุกจังหวัด ส่วนใครจะถูกสอยระหว่างนั้น คงติดตามข่าวกันต่อข้างหน้า แต่ช่วงนี้อุณหภูมิการเมืองไทยกำลังร้อนระอุ โดยไม่รู้ว่าฉากจบจะเป็นอย่างไร ก็ขออย่าให้เกิดความรุนแรงเช่นที่เกิดขึ้นมาในบ้านเราในอดีตหลายครั้ง ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียยากจะเยียวยากันได้

มาเล่าเรื่องเราต่อดีกว่า เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงได้ตามข่าวเรื่องการทุจริตของผู้บริหารระดับสูงของ ททท. ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก หลายท่านคงได้ทราบกันไปบ้างแล้ว แต่หลายท่านอาจไม่ทราบที่มาที่ไปของเรื่อง ก็เอาเป็นว่า ลองตามดูว่าเดิมเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร

ที่อเมริกาเมื่อต้นปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำทุจริตข้ามชาติ หรือ FCPA ของสหรัฐฯ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนาง จ. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.ของไทย จนเมื่อปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย 6 เดือน จากนั้นกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท โดยนอกเหนือจากนาง จ.แล้ว ยังกล่าวหาบุตรสาวนาง จ.ด้วย จากกรณีรับเงินตอบแทนสามี-ภรรยาชาวอเมริกัน นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002 - 2007 (หรือปี พ.ศ.2545 – 2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ทาง ป.ป.ช.รับเรื่องมา จึงได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเร่งด่วน โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ เป็นข้อมูลเอกสารจำนวนมาก พร้อมทั้งเส้นทางการเงินที่นาง จ. นำไปฝากต่างประเทศด้วย

ต่อมาปี 2554 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนาง จ.และบุตรสาว กรณีเรียกรับสินบนวงเงินประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านบาท (ค่าเงินขณะนั้น) และส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุด หลังจากพิจารณาตรวจสอบข้อไม่สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 ได้ยื่นฟ้องนาง จ.และบุตรสาว ต่อศาลเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ในความผิด 3 ข้อหา ฐานเป็นพนักงานเรียกรับ หรือรับทรัพย์สิน ประโยชน์ใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายฯ กระทำการไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เอื้อให้ผู้เข้าทำการเสนอราคานั้นเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 โดยมีบุตรสาวของนาง จ. เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังพบว่า นาง จ.มีทรัพย์สินเป็นบัญชีเงินฝากใน 5 ประเทศ คือ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซี และสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ารวม 65 ล้านบาท จึงได้ประสานสหรัฐอเมริกาอายัดไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริตและสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง คดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินกลับคืนประเทศ ป.ป.ช.จึงได้ชี้มูลความผิด นาง จ. ที่มีบุตรสาวเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร กรณีเรียกรับสินบนจากนักธุรกิจชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2550 หรือบางกอกฟิล์มและส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน อัยการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 60 เห็นว่า การจัดจ้างโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มีการกำหนดเงื่อนไขโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2538 โดยเฉพาะโครงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2546 ไม่เป็นการจ้างบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ที่เคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถผลงานมาแล้ว

โดยนาง จ. จำเลยที่ 1 คบคิดกับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน นักธุรกิจในสหรัฐฯ จัดตั้งบริษัทเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ ททท. และยังเรียกรับเงินสินบนจากนายเจอรัลด์ โดยโอนเงินไปยังบุตรสาว จำเลยที่ 2 กับเพื่อน 59 รายการเป็นเงิน 1,822,294 เหรียญสหรัฐ ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดจ้างนั้นก็ฟังไม่ขึ้น ส่วน บุตรสาวที่เป็นจำเลยที่ 2 ได้ชี้แจงกรณีเงินที่ได้รับโอนเข้าบัญชีว่ามาจากการทำธุรกิจกับบริษัทเอกชน ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พฤติการณ์ของ นาง จ. จำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 12 และผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6,12 ให้จำคุก "นางจ,” จำเลยที่ 1 รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 66 ปี

แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี จึงมีคำพิพากษาจำคุกนาง จ. อดีตผู้ว่าการ ททท.จำนวน 66 ปี แต่เมื่อลงโทษทุกกระทงความผิดแล้ว ให้จำคุกตามโทษสูงสุด จำนวน 50 ปี และจำคุกบุตรสาวของนาง จ. เป็นจำนวน 44 ปี และให้ริบทรัพย์สินเป็นจำนวนกว่า 62 ล้านบาท และต่อมาศาลอุทธรณ์ ยืนจำคุก นางจ. 50 ปี แก้โทษบุตรสาวเหลือจำคุก 40 ปี และให้ยกคำขอเรื่องของการยึดทรัพย์บุตรสาวจำเลยที่ 2 กว่า 1.8 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 62 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในมูลความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากคดีนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลริบทรัพย์ อีกทั้งเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์คดีทุจริตได้ไม่ว่าโจทก์จะร้องขอหรือไม่ จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น จึงให้ยึดถือตามกฎหมายเดิม ยกคำสั่งที่ให้ริบทรัพย์เงินจำนวน 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่สุดศาลฎีกามีพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ซึ่งคนทั้งสองยังคงถูกจำคุกมาจนถึงปัจจุบัน ท่านผู้อ่านคงเห็นว่าเรื่องนี้แม้เป็นเรื่องของส่วนราชการ แต่ในส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็มีพฤติการณ์คล้ายกัน โดยผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งให้ญาติหรือพวกพ้องรับงานของท้องถิ่นนั้นๆ ไปทำโดยไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อหรือจ้างให้ถูกต้อง หรือมีการช่วยเหลือกัน มันก็อิหรอบเดียวกับเรื่องข้างต้นนะครับ ก็พึงระวังกันด้วยครับ พบกันตอนหน้าครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...