โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม ลงพื้รที่ติดตามการซื้อขายรังไหมในระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ณ ต.หนองแดง อ.แม่จริม จ.น่าน พร้อมทั้งได้หารือกับนางสาวบุษยา คุ้นวงค์ กรรมการและที่ปรึกษางานส่งเสริม บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ในเรื่องการส่งเสริมเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งบริษัทมีความต้องการรับซื้อรังไหม ทั้งไหมรังเหลืองและรังขาวทั่วประเทศถึง 5,000 ตัน แต่ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิตรังไหมขายให้กับบริษัทได้เพียง 2,000 ตัน จึงพยายามผลักดันการส่งเสริมเกษตรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยใช้การดำเนินงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ซึ่งเป็นการผลิตไหมอุตสาหกรรมรังเหลืองเป็นแบบอย่าง เรียกว่า "น่านโมเดล"
ทั้งนี้ นายปราโมทย์ เปิดเผยว่า "น่านโมเดล" ถือเป็นการผลิตไหมอุตสาหกรรมรังเหลืองในระบบเกษตรพันธสัญญา มีรูปแบบหลักๆ คือ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแบ่งปันและสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน และมีองค์ความรู้ ซึ่งศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการทำพันธสัญญาร่วมกัน ซึ่งศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน สนับสนุนพันธุ์หม่อนและไข่ไหมให้เกษตรกรเลี้ยงและประสานในเรื่องการวางแผนการผลิต การกำหนดราคารับซื้อรังไหมที่เป็นธรรมทั้งแก่เกษตรกรและบริษัทเอกชน ในขณะเดียวกัน ก็ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงไหมวัยอ่อนได้ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการขนส่ง ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งไหมวัยอ่อนจากบริษัท อีกทั้งเกษตรกรก็มีรายได้จากการขายไหมวัยอ่อนให้แก่เกษตรกรด้วยกันนำไปเลี้ยงต่อด้วย ส่วนบริษัทเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องตลาดรับซื้อรังไหม จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรมีตลาดรองรับ เกิดความมั่นใจ และช่วยให้อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบรรลุวัตถุประสงค์ทุกฝ่าย
สำหรับการซื้อขายรังไหมอุตสาหกรรมในจังหวัดน่าน พะเยา และเชียงรายนั้น สร้างรายได้มากกว่าล้านบาทต่อรุ่น คาดการณ์จำนวนผลผลิตรังไหมตลอดทั้งปี 2563 จำนวน 70 ตัน และสร้างรายได้รวมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะสามารถซื้อขายรังไหมได้ 80 ตัน และสร้างรายได้รวมให้กับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 13 ล้านบาท
ทั้งนี้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ได้ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่าน พะเยาและเชียงราย ตั้งแต่ปี 2535 มีเกษตรกรหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลักมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ 600 ราย และมีเกษตรกรที่จดทะเบียนในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้ว จำนวน 310 ราย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมหม่อนไหมมีแผนจะขยายพื้นที่การปลูกหม่อนและเพิ่มจำนวนการเลี้ยงไหมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นต่อไป