ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรฯ ว่า แนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “Agri Challenge” จะมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมาย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร วางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดย“เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” คือการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับพันธกิจของกระทรวง สร้างการสื่อสารนโยบายของกระทรวงไปยังผู้ปฏิบัติ และบริหารจัดการให้สอดคล้องกับภารกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 8 ข้อ คือ 1. เกษตรกรรมยั่งยืน 2. แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 3. ข้อมูลด้านการเกษตร 4. การประมงยั่งยืน 5. ตลาดนำการผลิต 6. ลดต้นทุนการผลิต 7. พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และ 8. บริหารจัดการแหล่งน้ำ
ส่วนเป้าหมายการขับเคลื่อนภาคเกษตรภายในปี 2565 มุ่งเน้น 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี 2. ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี 3. เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และ 4. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่
“สำหรับภารกิจเร่งด่วน ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย แบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. ภารกิจเร่งด่วน เช่น งานโครงการพระราชดำริ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการ Smart Farmer เป็นต้น 2. การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร เช่น ภัยแล้ง ภัยพิบัติ ฝุ่น การรับเรื่องร้องทุกข์ เป็นต้น และ 3. การวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) เช่น การกำหนดตัวชี้วัดร่วม การติดตามระบบการทำงานต่างๆ เป็นต้น”
ทั้งนี้ ทุกภารกิจจะมีการมอบหมายผู้บริหารและหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ และสำหรับภารกิจใดที่ยังไม่ชัดเจน ต้องเร่งหารือกำหนดแนวทางให้ชัดเจน โดยจะกำหนดให้มีการประชุมผู้บริหารของกระทรวงเป็นประจำทุกเดือน ในคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร รวมทั้งให้สื่อสารไปยังทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและจังหวัดทันทีหลังจากการประชุม เพื่อความเข้าใจและการปฏิบัติงานอย่างเป็นเอกภาพ
"ทุกงานจะมีตัวชี้วัดที่ยังขับเคลื่อนไม่ได้ตามแผน จุดอ่อนอยุ่ตรงไหนเร่งแก้ไข โดยเฉพาะบิ๊กดาต้า เริ่มเห็นกลางปี2564 เกษตรกรสามารถเข้าระบบใช้ได้ จะเห็นคาดการณ์ประมาณผลผลิตแต่ละชนิด ความต้องการของตลาด สภาพอากาศ อย่างไรก็ตามหากข้าราชการซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ ผลร้ายจะตกกับเกษตรกร ที่ผมเห็นจุดอ่อนคือการแปลงนโยบายไม่ชัดเจน หรือคนปลายทางในพื้นที่มีภารกิจอื่น ไม่อยากทุ่มเท ไม่ใส่ใจเต็มที่" นายทองเปลว กล่าว
นายทองเปลว กล่าวด้วยว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำน้อย ต้องควบคุมการใช้น้ำตามปริมาณที่มี แต่ยังมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 900 ล้านลูกบาศก์เมตร จะไม่ต้องดึงน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง มามากเหมือนปีที่แล้ว 1.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,525 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 5,829 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้
“ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่เพียงพอการเพาะปลูก จะส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่ว ขอความร่วมมือ ไม่ปลูกข้าวต่อเนื่องได้แจ้งไปแล้ว แต่มีการปลูกไปกว่า 1 แสนไร่ ซึ่งเมื่อปี 2558 ไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ยังปลูกข้าวถึง 2 ล้านไร่ โดยเกษตรกรใช้น้ำใต้ดิน น้ำนอนคลอง ทั้งนี้ ยืนยันว่า น้ำอุปโภค บริโภค ปีหน้าเพียงพอและมีน้ำสำรอง ไว้ปีถัดไป” นายทองเปลว กล่าว