ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ยุบอบต. ควบรวมเทศบาล-จุดเปลี่ยนท้องถิ่น
21 ก.ย. 2559

          ว่ากันว่ากระแสการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกจุดขึ้นหลังการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนับหนึ่งที่ประกาศ มาตา 44 งดการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระ แล้วใช้วิธีคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำหน้าที่แทน แล้วต่อมา คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับใหม่ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระกลับมาปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

          ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดจะผ่านการทำประชามติ จะเห็นว่าผู้คนภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เสนอแนะกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กร แม้รัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแล้วก็ยังมีความเคลื่อนไหวเหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเนื้อหาจะยุบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และการกำหนดเกณฑ์จำนวนประชากร เพื่อนำไปสู่การควบรวมพื้นที่เป็น เทศบาล

          การนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับ ท้องถิ่นมีจำนวนหลายฉบับ ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องยกเลิกไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ก่อนนำมารวบรวมจัดทำเป็นประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ใช้อยู่ในฉบับเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน

          สาระสำคัญก็คือ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และเป็นนิติบุคคล โดยกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน แนะนำการบริหารงาน ขณะที่การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักเกณฑ์ 1.เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรไม่เกิน 15,000 คน  2.เทศบาลเมือง ท้องถิ่นที่มีประชากรเกิน 15,000 คน แต่ไม่เกิน 50,000 คน ไม่รวมเทศบาลเมือง ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ 3.เทศบาลนคร ท้องถิ่นที่ประชากรเกิน 50,000 คนขึ้นไป 4.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้จังหวัดหนึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีเขตพื้นที่ตามจังหวัดนั้น เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ

          ทั้งยังกำหนดให้ควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีประชากรต่ำกว่า 7,000 คนเข้าด้วยกัน หรือเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันในอำเภอเดียวกันภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประมวลกฎหมาย อปท.มีผลบังคับใช้ เพื่อแก้ปัญหางบประมาณไม่พอต่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งข้อมูลรายได้ อปท. ประจำปีงบประมาณ 2557 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บอกว่ารายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนของอปท. ที่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท พบมีเทศบาล 1,126 แห่ง อบต. 4,339 แห่ง รวม 5,465 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 69.59 ของอปท.ทั้งประเทศ

          อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายเพิ่งผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากนี้จะส่งให้คณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสปท. จากนั้นนำกลับมารับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน เพื่อที่จะส่งเข้า ครม.พิจารณาส่งเข้า สนช.ต่อไป ซึ่งการยกฐานะอบต.เป็นเทศบาล เชื่อว่าการบริหารจะดีขึ้น งบประมาณที่ลงมากขึ้น ประชาชนท้องถิ่นนั้นๆจะมีส่วนร่วมในการเสนอแผนงาน แต่อย่างไรแล้วก็ต้องรอสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะเสนอเนื้อหาที่ต้องการแก้ไข เพื่อจะนำไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น สปท.อีกครั้งเพื่อให้มีความคิดเห็นในหลักการที่สอดคล้องตรงกันให้มากที่สุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...