ก็ยังเป็นที่เฝ้ารอคอยกันว่าเมื่อไหร่ การพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นรูปเป็นร่างเสียที โดยที่ไม่ใช่คนเมืองหลวงที่เฝ้าดู เพราะโครงการที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้เข้ามาแสดงท่าทีเอาจริงเอาจัง ในการจะทำให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำได้แปรสภาพจากเดิมที่เป็นอยู่ ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากบางกลุ่ม นี่เองจึงเป็นสิ่งท้าทายชวนให้ติดตามว่า โครงการดังกล่าวจะทำสำเร็จหรือไม่ ที่สำคัญจะเป็นเวลาไหนที่จะได้เห็นแลนด์มาร์คกทม.เกิดขึ้นจริง !!!
นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านการบริหารโครงการ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม สำนักการโยธา กทม.ร่วมประชุม
ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 - 2559 จำนวน 126 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ค่าจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการ โดยกทม.ได้จัดทำคำขอรับงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาลปี 2560 จำนวน 1,098 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง
การดำเนินการจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กทม.ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษา มีระยะเวลาการศึกษา 210 วัน เริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 26 กันยายน 2559 โดยเนื้องานประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือส่วนที่ 1 งานด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ข้อมูลโครงการ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อกังวลและมีส่วนร่วมในการออกแบบ
ส่วนที่ 2 งานจัดทำแผนแม่บทและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยมีแผนในการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 12 แผนงานได้แก่ 1. แผนงานจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ (River Walks) เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมต่างๆทั้งสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยทางเดินเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ และพื้นที่สีเขียว 2. แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน (Green Walls) ให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม น่ามอง 3. แผนงานพัฒนาท่าเรือและจุดบริการสาธารณะ (Piers) ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่
4. โครงการพัฒนาศาลาท่าน้ำ (Sala Riverfronts)ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาพักคอย และชมทัศนียภาพ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมน้ำ 5. แผนงานพัฒนาพื้นที่บริการ (Public Services) รองรับการใช้ประโยชน์สาธารณะ เช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน และการให้บริการสาธารณะอื่นๆ 6. แผนงานพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ (River Linkages) ปรับปรุงตรอกซอกซอย ทางเดิน เพื่อเชื่อมต่อและเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 7. แผนงานปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ (Historical Canals) โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง รวมทั้งการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลอง ในด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว
8. แผนงานพัฒนาพื้นที่ชุมชน (Community Conservation and Development Areas) ตามกระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรม สืบสานวิถีชีวิตชุมชนที่มีมาในอดีตให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว 9 แผนงานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน (Religious Conservation Areas) ศูนย์รวมจิตใจชุมชน มรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม 10. แผนงานการพัฒนาพื้นที่นันทนาการ 11. แผนงานการพัฒนาจุดหมายตา (River Landmark) เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน และ12. แผนงานพัฒนาสะพานคนเดิน (Pedestrian Bridge)
ส่วนที่ 3 งานออกแบบรายละเอียด ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ปัจจุบันที่แล้วเสร็จคือ ช่วงฝั่งธนบุรี จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 ก.ม. ส่วนช่วงที่เหลือจะเสร็จปลายเดือนกันยายน 2559 สำหรับการจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ พบว่ามีประชาชนปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในบริเวณโครงการ 12 ชุมชน 309 ครัวเรือนในพื้นที่เขตบางซื่อ บางพลัด และดุสิต ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แก้ปัญหา คือให้ย้ายไปแฟลต ขส.ทบ. ย้ายไปโครงการบ้านเอื้ออาทร การซื้อที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งพอช.จัดทำแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้วเสร็จเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างโครงการต่อไป