นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยนพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด 19 (ศปค.สธ.)มีมติให้ดำเนินการเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อในเทศกาลปีใหม่ ดังนี้ 1. ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์จังหวัดของตนเอง และสอดคล้องกับมาตรการ ศบค. กำหนด เช่น การเข้าจังหวัดให้ตั้งจุดคัดกรองวัดไข้ ไม่ให้ผู้ป่วยเข้าจังหวัด 2.พื้นที่ควบคุมสูงสุดให้งดการจัดกิจกรรมสาธารณะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในพื้นที่เฝ้าระวังให้ลดการจัดกิจกรรมให้มากที่สุด หากจัดไม่ควรเกิน 100 คน เหมาะสมกับสถานที่เพื่อสร้างระยะห่าง กำหนด 1 คนต่อ 1 ตารางเมตร และต้องขออนุญาตจัดงาน
3. การจัดกิจกรรมเน้นผ่านระบบเสมือนจริง (Virtual) หรือระบบออนไลน์ 4. แรงงานต่างด้าวห้ามออกนอกพื้นที่ โดยขอให้อยู่ในที่พักในสถานประกอบการ 5. ให้ อสม. เคาะประตูบ้านให้ความรู้ประชาชน ดูแลจิตใจ ตรวจสอบคนแปลกหน้า แรงงานต่างด้าว และ 6.ขอประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง เช่น สถานที่ลักลอบเล่นการพนัน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อกระจายไปใน 45 จังหวัด บางจังหวัดพบผู้ติดเชื้อเพียง 1-2 ราย หรือ 5-10 ราย ไม่ได้ติดเชื้อทั้งจังหวัดและอยู่ในสถานการณ์ควบคุมได้ กรณี จ.สมุทรสาครจะควบคุมโรคให้การระบาดสิ้นสุดหรือเหลือน้อยที่สุดภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวคร่อมกับช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีการเดินทางจำนวนมาก มีการรวมตัวเฉลิมฉลอง ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี จึงต้องมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด หากไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะทำให้การควบคุมโรคยากขึ้น ขอให้คนไทยงดการเดินทางออกนอกจังหวัด พยายามอยู่บ้าน ฉลองปีใหม่กับคนในครอบครัว งดไปฉลองกับคนหมู่มาก การดื่มสุรา การละเล่นและตะโกนต่างๆ ทำให้มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อยากต่อการควบคุม
“อยากให้ประเทศไทยก้าวข้ามปีใหม่ด้วยความปลอดภัย ไม่มีผู้ใดติดเชื้อเพิ่ม ขอความร่วมมือทำตามมาตรการ คือ รักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจรักษาเร็ว และสแกนไทยชนะ ส่วนมาตรการของภาครัฐจะดำเนินการอย่างเหมาะสม ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจ”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดแยกคนในชุมชนศรีเมือง ตลาดกลางกุ้งจำนวน 4 พันรายที่กักกันโรคมาแล้ว 12 วัน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แยกพักใน 4 อาคาร ดังนี้ 1.ผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ติดเชื้อเกิน 10 วัน ผลการตรวจเลือดพบมีภูมิคุ้มกันแล้ว กรมควบคุมโรคจะออกหนังสือรับรอง สามารถใช้ชีวิตตามปกติ 2.ผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่ครบ 10 วัน ตรวจไม่พบภูมิคุ้มกันถือว่ามีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนอื่น 3.ผู้ที่ตรวจด้วยวิธี RT PCR ไม่พบเชื้อ ที่ยังอยู่ในระยะฟักตัวของโรค และ4.ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ
สำหรับผู้ป่วย 5 รายแรกของสมุทรสาคร ขณะนี้พ้นระยะ 10 วันแล้วสามารถกลับบ้านได้ โดยรายของหญิงอายุ 95 ปีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงสามารถหายใจได้เอง ไม่ต้องให้ออกซิเจน ไม่มีอาการทางปอด ถือว่าปลอดภัยหายดีแล้วไม่พบเชื้อ ส่วนปัญหาการมีแผลกดทับจาการนอนติดเตียงหลายปี ได้ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาการดีขึ้น ไข้ลดลง ทั้งนี้ การตรวจพบผู้ติดเชื้อ 1 คน สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ค้นหาผู้สัมผัสและแยกว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ โดยสามีภรรยา มีโอกาสติดเชื้อ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นคนในครอบครัวมีโอกาสติดเชื้อ 10 เปอร์เซ็นต์ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอื่นๆ มีโอกาสติดเชื้อ 3 เปอร์เซ็นต์ หากค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้รวดเร็ว โอกาสที่จะเจอผู้ป่วยและควบคุมการระบาดได้ก็มีสูง การพบผู้สัมผัสมากและตรวจได้มาก จะลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว
ด้านนพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมในกรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 70 ราย สูงสุดในเขตบางขุนเทียน 27 ราย เขตหนองแขม 7 ราย เขตบางแค 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่พื้นที่รอยต่อกับสมุทรสาคร กระจายตัวเป็นกลุ่มในชุมชน ร้อยละ 61.4 มีอาการเพียงเล็กน้อย กลุ่มที่ 2 โรงงานผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 เขตบางขุนเทียน ตรวจคัดกรองไปกว่า 400 ราย พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย เป็นชาวไทย 1 ราย และชาวเมียนมา 6 ราย ทั้งหมดเป็นพนักงานรายวันในสายการผลิตเดียวกัน ซึ่งผู้ติดเชื้อรายแรกคือชายชาวเมียนมา เริ่มป่วยวันที่ 17 ธันวาคม 2563 โดยตรวจพบเชื้อปนเปื้อนอยู่ในพื้นผิวก๊อกน้ำ อ่างน้ำ ปัจจัยเสี่ยงในการแพร่โรคเกิดจากการปฏิบัติงานในสายการผลิตเดียวกันและการใช้ห้องน้ำร่วมกัน และกลุ่มที่ 3 เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อแล้ว 22 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายแรกของกลุ่มเป็นนักเที่ยวจาก จ.นนทบุรี ที่ได้รายงานมาแล้วก่อนหน้านี้ เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร 3 ร้าน ได้แก่ ร้านอาหารอีสานกรองแก้ว ย่านปิ่นเกล้า ร้านแซ่บอีสานคาราโอเกะ ย่านเทเวศร์ และร้านน้องใหม่พลาซ่า ย่านปิ่นเกล้า ซึ่งพบรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง
“กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือนักเที่ยวทุกท่านที่ได้เข้าไปใน 3 ร้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 20 ธันวาคม 2563 ให้สังเกตอาการตนเองและพักอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันหากมีอาการสงสัยว่าป่วย ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่นไม่ได้รับรส ให้สวมหน้ากากอนามัย ใช้รถส่วนตัว และไปรับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง พร้อมแจ้งความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ทราบ” นพ.วิชาญ กล่าว