เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์
การไต่สวนของ ป.ป.ช.
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงนี้คงเป็นห้วงเวลาแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจของคนไทยมาก ถ้าหากไม่มีเรื่องเจ้าโควิท319 รอบ 2 ที่ทำทีทำท่าว่าจะเข้ามาจับคนไทยให้ตื่นตระหนกกันอีก จะว่าไปโทษใครก็ไม่ได้ นอกจากคนไทยบางคนที่เห็นแก่ตัวเท่านั้นเอง ซ้ำเรื่องปัญหาทางการเมืองก็ไม่มีทีท่าว่า จะจบลงอย่างสวยงามได้อย่างไร เป็นกรรมของคนไทยเหลือรับจริงๆครับ
มาฟังเรื่อง ป.ป.ช.ดีกว่าครับ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านหลายท่านคงทราบบ้างว่า เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ซึ่งทุกปีก็จะมีกิจกรรมของ ป.ป.ช.กับรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทในเรื่องนี้จัดงานเชิงสัญลักษณ์กัน มาปีนี้ต้องจัดกันเล็กๆ เพราะโควิท-19 นั่นละครับ แต่ที่น่าสนใจคือ ก่อนหนนั้นวันสองวัน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีการรับเรื่องกล่าวหาการทุจริต จำนวน 10,382 เรื่อง วงเงินงบประมาณของโครงการภาครัฐจากคำกล่าวหา รวม 238,209 ล้านบาท ส่วนใหญ่พบว่า เป็นการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด
รองลงไปเป็นเรื่องการดำเนินการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปีงบประมาณ 2563 วงเงินงบประมาณของโครงการจากคำกล่าวหา รวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ลดลงเนื่องจากคำกล่าวหาที่ ป.ป.ช. รับไว้จำนวน 8,691 เรื่อง ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 16 ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา 2 เดือน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ย. 2563) ป.ป.ช. มีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น จำนวน 9,416 เรื่อง และไต่สวน จำนวน 3,320 เรื่อง ซึ่งจะเห็นว่า เรื่องมากมายเช่นนี้ ป.ป.ช.จะทำเสร็จในช่วงเวลาหรือไม่ และจะเอาคนทุจริตเข้าคุกได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องท้าทายต่อสาธารณะมากนะครับ
มาว่าคราวนี้ถึงเรื่องการไต่สวนต่อนะครับ เมื่อ ป.ป.ช.รับมาดำเนินการก็ต้องว่าอย่างใด คือตั้งคณะกรรมการทั้งชุดเป็นองค์คณะ หรือจะตั้งคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ไม่น้อยกว่า 2 คน และบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวน หรือคณะกรรมการมอบหมายเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวนเป็นคณะไต่สวนเบื้องต้น โดยจะมีเวลาทำงานของคณะเหล่านี้ที่ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินนับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน 2 ปี แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นที่ทำให้เสร็จไม่ทัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจขยายเวลาให้อีกตามความจำเป็น แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน ....สามี เว้นแต่บางเรื่องที่ต้องไปไต่สวนต่างประเทศหรือขอให้หน่วยงานต่างประเทศไต่สวนให้หรือขอรับเอกสารจากต่างประเทศก็อาจชยายเวลาเท่าที่จำเป็นก็ได้ จากนั้นเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งแล้ว คณะไต่สวนก็จะดำเนินการนัดประชุมพิจารณากำหนดแนวทางไต่สวนการมอบหมายบุคคลในองค์คณะนั้นๆ
เราเลยไปถึงวิธีไต่สวนดีกว่าครับ ไม่ว่าการนำพยานเข้าสู่สำนวน การสอบปากคำ ต้องมีกรรมการไต่สวนอย่างน้อย 2 คน หรือหัวหน้าพนักงานไต่สวน 1 คน และผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคนร่วมอยู่ด้วย หรือการสอบปากคำเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ก็ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น แต่ที่สำคัญอีกเรื่องที่ท่านผู้อ่านอาจไม่ค่อยได้ยินบ่อยครั้งนัก คือเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งคณะกรรมการไต่สวนอาจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้นำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการที่ถูกให้ยื่นเก็บไว้กับที่หน่วยงานอื่น หรืออาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้แล้วหรือไม่ก็ตามเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ขณะไต่สวนประกอบกับรายได้ รายจ่าย การเสียภาษี เพื่อพิจารณาตามควรว่าร่ำรวยผิดปกติจริงหรือไม่
ส่วนที่ว่าจะเป็นผู้กล่าวหา พยานก็ดี ผู้แจ้งเบาะแสอาจจะต้องใช้มาตรการคุ้มครองพยาน ก็ต้องว่ากันตามระเบียบหรือการกันพยานก็เช่นกัน ถ้าเกิดมีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่ใช้หรือได้มาโดยไม่ชอบ ก็ให้คณะกรรมการ ป.ป.ง.มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ถ้าระหว่างไต่สวนพบว่า มีเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนรวมทั้งผู้ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่เพื่อจูงใจให้ทำหรือไม่ทำหรือประวิงการกระทำอันไม่ชอบด้วยหน้าที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำผิดในเรื่องที่อยู่ระหว่างไต่สวน ก็ให้คณะกรรมการไต่สวนทำต่อได้ อีกประการระหว่างไต่สวนหากผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งหรือเหตุใดนอกจากตาย ก็ให้คณะกรรมการไต่สวนทำต่อในคดีอาญา วินัย หรือขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไปได้ ถ้าตายแม้ทางวินัยหรืออาญาทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ยังมีอำนาจไต่สวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติต่อได้ ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี นับแต่ผู้นั้นตาย
หลังจากไต่สวนได้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานเพียงพอสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ามีมูลความผิด ก็ให้กรรมการป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ หากฟังว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา หรือข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า จะทำอย่างไรต่อไป การแจ้งข้อกล่าวหาจะมีหนังสือเรียกให้ไปพบ วิธีการส่งหนังสือให้ผู้ถูกกล่าวหาก็มีความสำคัญเช่นกัน ขนาดศาลปกครองเคยวินิจฉัยมาแล้ว โดยต้องส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาหรือที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏทางทะเบียนราษฎร์ หรือที่ปรากฎจากการไต่สวน ถ้าไม่ปรากฎภูมิลำเนาหรือที่อยู่ตามหลักฐานทางทะเบียน ก็ให้ส่งไปยังที่อยู่ตามหลักฐานที่ปรากฎล่าสุด และจดแจ้งไว้เป็นหลักฐานด้วยเพื่อยืนยัน เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาปรากฎตัวต่อหน้า และเชื่อว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาจริง อาจแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ต้องมีหนังสือเรียกก็ได้ เมื่อผู้กล่าวหามาพบกHให้แจ้งข้อกล่าวหาทราบให้เข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี
ถ้าเป็นเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและที่ตั้ง ชื่อที่อยู่ของผู้ครอบครองด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบถึงสิทธิการคัดค้านเรื่องการมีส่วนได้เสียด้วย โดยทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรสรุปสาระสำคัญให้เพียงพอ รวมถึงสิทธิในการนำทนายหรือบุคคลที่ไว้วางใจไม่เกิน 3 คน เข้าฟังในการชี้แจง รวมถึงยังกำหนดกรอบเวลาการชี้แจงต้องไม่เกิน 15วัน นับแต่วันที่ถือว่ารับทราบข้อกล่าวหา
ครับที่บอกล่าวมาข้างต้นเป็นขั้นตอนที่ ป.ป.ช.ไต่สวนมาจนถึงการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก็ยังไม่หมดกระบวนการครับต้องต่ออีกตอนสองตอน คงไม่ว่ากันนะครับ สุขสันต์ปีใหม่ครับท่านผู้อ่านที่เคารพ