นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในรัฐบาลไทย โดย สธ.ร่วมมือกับหลายฝ่ายว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ไม่ช้าไปกว่าประเทศส่วนใหญ่
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มีข้อมูลออกไปทางโลกโซเซียลและหลายฝ่ายมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนสับสนและไม่แน่ใจ เราทำงานเรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลว่าวัคซีนของเจ้าใด ที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ มีการเตรียมข้อมูล วางเป้าหมาย มีกลไกลที่ทำให้ได้วัคซีนมา ซึ่งเป้าหมายยังไม่เปลี่ยน เรายังจะฉีดวัคซีนให้คนไทย โดยรัฐ และเป็นการฉีดฟรีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร ซึ่งเป็นวัคซีนเกือบ 70 ล้านโดส สิ่งที่เราเตรียมการคือ 1.ต้นทุนในมือ เรื่องการเจรจาของบริษัทแอสทราเซเนก้า ที่ใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้เราทำสัญญา 26 ล้านโดส อยู่ระหว่างการผลิตในประเทศไทย คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะได้ฉีดให้กับคนไทย บนแรงกดดันเราไม่ได้หยุดแค่นี้ อีกร้อยละ 20 จึงมีการเจรจาร่วมกับโคแวกซ์ (COVAX) แต่เป้าหมายมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากมีความยุ่งยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และอีกร้อยละ 10 ทำข้อตกกับบริษัทที่คิดว่ามีโอกาสผลิตวัคซีนสำเร็จ
ขณะเดียวกัน นพ.ศุภกิจได้กล่าวย้ำว่า แม้ว่าจะมี 26 ล้านโดสก็ยังมีการตั้งคำถามว่ามาปลายเดือนพฤษภาคมช้าไปหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความพยายามเจรจากับหลายฝ่าย ทั้งไฟเซอร์ โมเดิร์นนา วัคซีนประเทศจีน และอาจจะขอซื้อเพิ่มเติมจากแอสทราเซเนก้าได้ ซึ่งจะเพิ่มให้ถึงเป้า
“ข่าวดีที่เกิดขึ้น 2-3 วันที่ผ่านมาคือ บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) จะนำวัคซีน 2 แสนโดส เข้ามาไทยในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน ปลายเดือนมีนาคมอีก 8 แสนโดส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 2 ล้านโดส” นพ.ศุภกิจกล่าว
ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 โดยเตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่ โรงงาน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องจักรแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโดสต่อปี หรือเดือนละ 15-20 ล้านโดส ทั้งนี้ จะมีการทดสอบใน 5 รอบการผลิต แต่ละรอบผลิตห่างกัน 14 วัน ใช้เวลารอบละ 120 วัน (4 เดือน) เป็นการผลิต 60 วัน และอีก 60 วัน สำหรับการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ
ดร.ทรงพลกล่าวว่า การผลิตรอบแรกคือเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา กำลังดำเนินการผลิตรอบที่ 2 ทั้งนี้ เมื่อผลิตครบ 5 รอบจะนำผลยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตวัคซีนคือคุณภาพและความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้และจะมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ