สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ จากการตรวจประเมินโดยสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ด้วยมาตรฐานการวิเคราะห์ภายใต้ระบบ ISO 17025 : 2017 ในระดับสากล
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ จากการตรวจประเมินโดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ในฐานะที่มีความพร้อมทางด้านระบบบริหารงานคุณภาพและด้านวิชาการ ภายใต้ระบบ ISO 17025 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งทาง วว. ได้รับการรับรองในขอบข่ายของความเป็นกรด-ด่าง ของดิน และค่าการนำไฟฟ้าของดิน
ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช วว. มีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ให้แก่หน่วยงานทั้งส่วนราชการ สถาบันการศึกษา อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้ประกอบการชุมชนและบุคคลทั่วไป ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและนักเคมีวิเคราะห์ โดยจะให้บริการวิเคราะห์ฯ จำนวน 36 รายการ ดังนี้
1. ขนาดปุ๋ย 2.ปริมาณความชื้นและสิ่งที่ระเหยได้ 3.ปริมาณหิน กรวด ทราย 4.พลาสติก แก้ว วัสดุมีคมและโลหะอื่นๆ 5.ค่าความเป็นกรด-ด่าง 6.ค่าการนำไฟฟ้า 7.ค่าอินทรียวัตถุ 8.ไนโตรเจนทั้งหมด 9.ฟอสเฟตทั้งหมด 10.โพแทชทั้งหมด 11.อัตราส่วนของธาตุคาร์บอนต่อธาตุไนโตรเจน 12.การย่อยสลายที่สมบูรณ์ 13.สารหนู 14.ปริมาณเกลือ 15.แคดเมียม 16.ตะกั่ว 17.โครเมียม 18. ปรอท 19.ทองแดง 20.สังกะสี 21.แมงกานีส 22.ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 23.โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 24.แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 25.แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 26.โซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้ 27.ความอิ่มตัวด้วยด่าง 28.ความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก 29.เหล็กที่แลกเปลี่ยนได้ 30.ทองแดงที่แลกเปลี่ยนได้ 31.แมงกานีสที่แลกเปลี่ยนได้ 32.สังกะสีที่แลกเปลี่ยนได้ 33.จุลินทรีย์ทั้งหมด 34.แบคทีเรียกลุ่มแลคติก 35.แบคทีเรียกลุ่มบาซิลลัส และ 36.จุลินทรีย์ละลายฟอสฟอรัส
สำหรับวิธีการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อส่งมาวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช ของ วว. มีวิธีการ ดังนี้ 1.แบ่งพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน 2.กรณีพืชรากสั้น เก็บดินแต่ละแปลงย่อย โดยเก็บกระจายที่แปลงๆละ 15 จุด และกรณีพืชรากลึก ให้เลือกพืช 15-20 ต้นต่อแปลง เก็บรอบทรงพุ่ม 2-4 จุดต่อต้น ดินที่ได้นำมารวมกัน 3.หากมีหญ้าและ/หรือเศษวัสดุคลุมดินให้ถางและกวาดออกให้ได้มากที่สุด 4.ขุดหลุมเป็นรูปตัว V ลึกประมาณ 1 หน้าจอบ ใช้จอบเซาะดินที่ขอบหลุมทิ้ง แล้วจึงเก็บดินตัวอย่างใส่ถุงพลาสติก และ 5.คลุกดินทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม โดยมีวิธีการแบ่งคือ เกลี่ยตัวอย่างดินแผ่ให้เป็นรูปวงกลมแล้วแบ่งผ่ากลางออกเป็น 4 ส่วนเท่ากัน เก็บดินมาเพียง 1 ส่วน หนักประมาณ 1 กิโลกรัม ใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด เพื่อส่งวิเคราะห์
ผู้สนใจสามารถขอใช้บริการจาก ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ติดต่อได้ที่ กลุ่มบริการวิเคราะห์/ทดสอบ โทร. 02 577 9018 และส่งตัวอย่างเพื่อการทดสอบ ได้ที่
อาคารศูนย์บริการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยอินทรีย์เคมีขั้นสูง วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 0 2577 9018