สศก.คาด จีดีพีเกษตร ปี 2564 โต 1.3-2.3 % หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น โอกาสไทยดันส่งออกอาหาร ชี้ช่องใช้ประโยชน์จากกลุ่มประเทศเอฟทีเอ มั่นใจ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ สุกร ราคาดี แต่ โควิด ภัยธรรมชาติ ค่าเงินผันผวน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง
ในปี 2564 คาดว่าจะเป็นโอกาสของภาคเกษตรไทยที่ประเทศต่างๆ มีการนําเข้าอาหารจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทําให้ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของไทย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภาคการเกษตร หรือจีดีพีเกษตรปี 2564 ดีขึ้น
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.3–2.3% โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สภาพอากาศที่เอื้ออํานวยต่อการทําการเกษตรมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำ เพียงพอสําหรับการเพาะปลูก และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา
การดําเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนา Smart Farmer และ Young Smart Farmer การจัดทําฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการตัดสินใจ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร การส่งเสริม การรวมกลุ่ม การใช้หลักการตลาดนําการผลิต ทําให้การบริหารการผลิตมีความสอดคล้องกับ ความต้องการของตลาด มีการวางแผนการผลิตและการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยลด ต้นทุนการผลิต ทําให้เกษตรกรมีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงการดําเนินแผนงานโครงการที่ เกี่ยวข้องกับการเกษตรตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“โดยรวมในปี 2564ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มขยายตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยสนับสนุนให้มีการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น"
นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ รวมถึงโอกาสในด้านความร่วมมือและการเจรจาข้อตกลงทางการค้าของไทยกับประเทศคู่ค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สําคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติอาจทําให้พื้นที่ เกษตรได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อและมีความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในรอบใหม่ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าของโลกฟื้นตัวได้ช้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยหากค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย และการเปลี่ยนแปลงราคาน้ํามันดิบดูไบ ที่จะส่งผลต่อแนวโน้มราคาน้ํามันในประเทศและส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร
ด้านแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสําปะหลังและ ผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม สับปะรดและผลิตภัณฑ์ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มังคุด เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ และเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ประเทศคู่ค้าหลักยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว
นอกจากนี้ การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งในตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีน รวมถึงเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้มากขึ้น และเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากยังคงมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังต้องใช้ เวลาในการฟื้นฟูสถานการณ์ให้ดีขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกําลังการผลิตในต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว จึงคาดว่าจะมีความต้องการนําเข้าสุกรจากไทยเพิ่มมากขึ้น
ปี 2564 ภาครัฐมีแผนการทํางานเชิงรุกเพื่อเร่งขยายตลาด โดยจะมีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง