กยศ. ชี้แจงปม ลูกหนี้ฟ้องคดีแพ่ง หลังกองทุน กยศ. ยึดบ้านและที่ดิน มูลค่าเกือบ 4 ล้าน ขายทอดตลาด
จากเหตุการณ์ที่ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย พาผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปยื่นฟ้องคดีแพ่งกับกองทุน กยศ.และสำนักงานทนาย เพื่อเรียกคืนบ้านและที่ดิน พร้อมค่าเสียหายประมาณ 3,894,000 บาท หลังถูกบังคับคดีขายทอดตลาด ทั้งที่ผู้กู้ได้ชำระหนี้คืนกองทุน ก่อนการขายทอดตลาดแล้ว
ล่าสุด เรื่องนี้มีความชัดเจนออกมา โดยนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เผยว่า กยศ. ได้ดำเนินคดีกับผู้กู้รายนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งศาลพิพากษาให้ผู้กู้ชำระหนี้ให้กับกองทุน แต่ผู้กู้ไม้ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนจึงมีความจำเป็นต้องยึดทรัพย์ บังคับคดีกับผู้กู้ จากการสืบทรัพย์ไม่พบทรัพย์สินอื่น จึงจำเป็นต้องยึดบ้านและที่ดิน
ต่อมาสำนักงานบังคับคดี ได้ประกาศขายทรัพย์สินผู้กู้ทอดตลาด 4 ครั้ง แต่ผู้กู้ได้ชำระหนี้ปิดบัญชีก่อน กองทุนจึงมีคำสั่งให้สำนักงานทนายความ ถอนการยึดทรัพย์ผู้กู้
เมื่อสำนักงานทนายความ ไม่สามารถนัดผู้กู้ เพื่อไปดำเนินการถอนการยึดทรัพย์และบังคับคดี ในวันที่ตรงกันได้ จึงมีการตกลงกันว่า สำนักงานทนายความจะทำหนังสือมอบอำนาจถอนการยึดทรัพย์และบังคับคดีให้กับผู้กู้ ไปยื่นทำเรื่องด้วยตัวเองในวันที่สะดวก ซึ่งสำนักงานทนายความ เข้าใจว่าผู้กู้ได้รับเอกสาร และไปดำเนินการยื่นถอนการยึดทรัพย์และการบังคับคดีแล้ว
แต่พอเวลาผ่านไป ผู้กู้ยืมไม่ได้ไปยื่นถอนการยึดทรัพย์และการบังคับคดี ทำให้ในวันขายทอดตลาดทรัพย์ สำนักงานบังคับคดีจึงได้ขายทอดตลาดทรัพย์ให้แก่คนที่มาซื้อ
ภายหลังผู้กู้เพิ่งมารู้ว่าทรัพย์สินถูกขายทอดตลาดแล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนการขายทรัพย์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 และศาลพิจารณายกคำร้องผู้กู้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
จากนั้นวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ผู้กู้ได้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่กองทุน กยศ. ซึ่งกองทุนได้ประสานงานกับสำนักงานทนาย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และให้ความช่วยเหลือผู้กู้ ปรากฏว่ามีหลายแนวทางการช่วยเหลือ ทั้งการซื้อบ้านและที่ดินคืนจากคนที่ซื้อ ซึ่งทางสำนักงานทนายความ ยินดีที่จะร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างการประสานงานทุกฝ่าย เพื่อเจรจาหาทางออกที่ดีที่สุด ส่วนเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์ ประมาณ 1.6 ล้านบาท อยู่ที่สำนักงานบังคับคดี