บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานปี 2563 มีกำไรสุทธิ 6,286.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2562 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.34 บาท และเตรียมขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผล 2.40 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 3,480 ล้านบาทสำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 ในปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการเดิมและโครงการใหม่
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 700 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ลงทุนแล้ว 8,174 เมกะวัตต์ ส่วนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงานจะสานต่อโครงการที่ได้เริ่มศึกษาและเจรจาร่วมทุนในปีที่ผ่านมาต่อเนื่อง ได้แก่ การร่วมทุนในบริษัทนวัตกรรมกับกลุ่มกฟผ. โครงการ District 9:เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ โครงการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง เป็นต้น
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2563 ได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาและกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long เวียดนาม ซึ่งบริษัทฯ ลงทุนผ่านกองทุน ABIEF เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย สำหรับรายได้รวมปี 2563 (ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) มีจำนวน 16,155.92 ล้านบาท ซึ่งประมาณ 94.8% เป็นรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก แบ่งเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้า IPP ประมาณ 68.9% โรงไฟฟ้า SPP ประมาณ 15.7% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประมาณ 10.2% ขณะที่ภาพรวมรายได้ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.9% เป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท สำหรับปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้าลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 700 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 455 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 245 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งได้จัดสรรเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ไว้ 7,000 ล้านบาท หากสามารถดำเนินการตามเป้าหมายจะทำให้กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 8,874 เมกะวัตต์
“บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์การลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 350 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทฯให้มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต ที่บริษัทฯ สามารถแสวงหาการลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายกำลังผลิตพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 รวมทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลได้ นอกจากนี้ก็จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิมขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ ร่วมกันด้วย สำหรับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานก็จะขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้ไปสู่การร่วมทุนและดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การร่วมทุนนวัตกรรมด้านไฟฟ้ากับกลุ่ม กฟผ. ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ในปีนี้ โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งในประเทศและสปป. ลาว และโครงการจัดหาเชื้อพลิงแอลเอ็นจี โครงการดังกล่าวนี้ บริษัทฯ ได้จัดเตรียมวางแผนการจัดหาเงินไว้พร้อมแล้ว และมั่นใจว่าเป้าหมายที่วางไว้จะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ” นายกิจจา กล่าว
ในปี 2564 บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%) ส่วนโรงไฟฟ้าที่เดินเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,700 เมกะวัตต์ จะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิต และควบคุมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2564 มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 หุ้นละ 2.4 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 3,480 ล้านบาท โดยจะนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันที่ 5 เมษายน 2564 กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เมษายน 2564 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 (งวดเดือนมกราคม - มิถุนายน 2563) จำนวน 1,667.50 ล้านบาท 1.15 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563