ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และภาคีเครือข่ายกว่า 30 คน เดินรณรงค์ต่อต้านฉากข่มขืนในละคร “เมียจำเป็น” โดยมีการแจกสติกเกอร์ ถือป้ายข้อความต่อต้านและเรียกร้องให้สปอนเซอร์ ประชาชนร่วมแบนละครดังกล่าว ก่อนเดินทางเข้ายื่นข้อเสนอ ต่อนายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เพื่อขอให้เร่งสร้างกติการ่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา
นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ฉากข่มขืนละครเรื่องเมียจำเป็น มีลักษณะสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืน โดยเนื้อหาของละครมีการโทษฝ่ายหญิง (Victim Blaming) และทับถมด้วยคำพูดรุนแรง และตอกย้ำความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถือเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ละครมีหลายประเด็นไม่สมควรนำเสนอเพราะเป็นการผลิตซ้ำการข่มขืน การใช้ความรุนแรง การแสดงท่าทีหรือใช้คำพูดรังเกียจ การถ่ายคลิปประจาน และการตั้งคำถามผู้ถูกข่มขืน การโทษผู้ถูกข่มขืนจึงเป็นการกระทำหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางอ้อม ผลิตซ้ำการตีตราผู้ถูกข่มขืน เป็นทัศนคติที่กล่าวโทษผู้ถูกข่มขืนว่ามีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น ทัศนคตินี้โยนความรับผิดชอบไปให้ผู้ถูกข่มขืน สิ่งที่น่ากังวล คือ จะยิ่งทำให้ผู้ถูกข่มขืนไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดี ถูกตีตราและกล่าวโทษตัวเอง
มูลนิธิและภาคีเครือข่าย ได้แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้อง ดังนี้
– ขอให้ พม. เชิญผู้ผลิตละคร และสถานีโทรทัศน์ ทีวีดิจิตอล รวมไปถึงช่องสื่อออนไลน์ที่มีละคร และ กสทช. มาทำความเข้าใจเพื่อยุติเนื้อหาละครที่ไม่สร้างสรรค์และยังสร้างทัศนคติที่ผิดๆเกี่ยวกับการข่มขืน และการคุกคามทางเพศ โดยเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง,
– ในการรณรงค์เพื่อทำความเข้าใจต่อประชาชน ผู้บริโภคให้เข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศ การข่มขืนในความหมายที่ถูกต้อง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวง พม.ต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ตลอดจนการมีกลไกติดตามเฝ้าระวังเพื่อจัดการให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง
– ขอแสดงจุดยืนต่อต้านฉากข่มขืนในละครทุกรูปแบบ และขอเรียกร้องให้บริษัท สินค้าที่สนับสนุนเป็นสปอนเซอร์ละครทีวีดังกล่าว พิจารณาทบทวนการสนับสนุน และโปรดมีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนละครที่มีฉากข่มขืนทุกกรณี,
– ขอเรียกร้องต่อประชาชน ในฐานะผู้บริโภคสื่อ ให้ช่วยกันแสดงออกทุกรูปแบบในการไม่สนับสนุน ต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ละครที่มีฉากข่มขืน รวมถึงบรรดารายการที่เข้าข่ายทำลายความเสมอภาคระหว่างเพศ
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าอายมากที่บรรดาผู้จัดละคร รวมถึงช่องที่นำเสนอละครยังจัดให้มีฉากข่มขืนวนเวียนอยู่ในละคร รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ตามมาของตัวละครซึ่งตอกย้ำความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ตนกังวลว่าเด็กและเยาวชนมีโอกาสซึมซับเอาพฤติกรรมของตัวละครไปได้โดยไม่รู้ตัว รากความคิดที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการข่มขืน การคุกคามทางเพศ ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งจำเป็นต้องทำลายลงไป กลับถูกนำมาตอกย้ำผลิตซ้ำด้วยความมักง่ายของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในละครเรื่องนี้
“มีหลายคนเตือนว่าการออกมารณรงค์แบบนี้จะยิ่งทำให้ละครยิ่งดัง ผมกลับคิดว่าถ้าผู้จัดหรือช่องคิดได้แค่นี้ คงต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้บริโภคแล้วหละ ที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของเรา ผมยังแอบหวังอยู่ว่า พวกเขาอาจจะคิดได้ สำนึก และยอมขอโทษ และสัญญาว่าจะไม่ให้มีฉากละครที่เลวร้ายแบบนี้ออกมาอีก” นายชูวิทย์กล่าว