ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
การบุกรุกที่ดินของรัฐของนักการเมือง
16 มี.ค. 2564

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

การบุกรุกที่ดินของรัฐของนักการเมือง

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ตอนนี้คงว่ากันต่อเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐของนักการเมืองที่เป็นเรื่องเป็นราวกันนะครับ จากคราวที่แล้วที่ได้เล่าถึงข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของ ป.ป.ช. เมื่อเข้าสู่การวินิจฉัยของ ป.ป.ช.เป็นอย่างไรนั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า

การที่นางสาวปารีณา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อยู่ในกรอบของจริยธรรมในการดำรงตน เคารพ ยึดถือ และปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนั้น แต่กลับไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ หรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม

จึงมีมติว่า กรณีที่นางสาวปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

ครับนั้นเป็นมติของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูล ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. เขาเขียนถึงเรื่องการดําเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ซึ่งการเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาที่กล่าวข้างต้น และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ซึ่งต้องกําหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดําเนินการโดยรวดเร็ว รวมถึงการนำเอากฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

กล่าวโดยสรุป ถ้าคดีนักการเมืองฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงส่งไปศาลฎีกา หากว่าศาลฎีกาประทับฟ้องผู้ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกามีคําพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่่เกิน 10 ปี ด้วยหรือไม่ก็ได้

ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตลอดไปและไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่หากว่า เป็นกรณีที่มีคําพิพากษาของศาลฎีกาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และยังมิได้พ้นจากตําแหน่งไปก่อน ก็ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา และถ้าในระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่มิได้รับเงินเดือน เงินประจําตําแหน่งค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ก็ให้มีสิทธิได้รับเสมือนหนึ่งผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งไปก่อนที่จะมีคําพิพากษา การจ่ายเงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตําแหน่ง สำหรับกรณีของคุณปวีณาก็คงเป็นไปตามกระบวนการที่กล่าวแล้วนี้ละครับ ซึ่งคุณปวีณาก็คงมีโอกาสสู้คดีในชั้นศาลฎีกาอีกครั้ง แต่จะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ก่อนอย่างไรหรือไม่อยู่ที่ศาลฎีกาท่านจะประทับฟ้องหรือไม่ ถ้าศาลประทับฟ้องคุณปวีณาต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ทันที ถือเสมือนว่า เปิดโอกาสให้ในเวลานั้นได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และเพียงศาลเดียวในกรณีฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไปนั้น

สรุปว่า ถ้าผิดก็พ้นตำแหน่งและเล่นการเมืองไม่ได้อีกตลอดไป ถ้าไม่ผิดหากอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งก็กลับเข้าไปเป็นต่อรวมถึงสิทธิต่างๆ ก็ได้คืน เรื่องนี้ก็ต้องลุ้นกันต่อครับ อย่างที่กฎหมาย ป.ป.ช.เขียนไว้ นอกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วยังใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งอื่นอีก ไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ

ในส่วนของผู้บริหารท้องถิ่น ก็มีการกำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มาในทุกวันนี้มีพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ระบุกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่รับผิดชอบก็ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมโดยอาจกำหนดมาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ลงโทษนักการเมืองท้องถิ่นแต่ละประเภทที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นรายกรณีๆ ไปนั้นก็ได้  ติดตามตอนต่อไปครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...