พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายสำเริง แสงภู่วงค์รองเลขาธิการ สทนช. และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม พร้อม VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อรับทราบความก้าวหน้าผลดำเนินการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ รวมทั้งพิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ตามที่ 8 หน่วยงานเสนอ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งสิ้นจำนวน 84 โครงการ ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการระบบบำบัดน้ำเสียตามที่หน่วยงานได้เสนอมาเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีวงเงินค่อนข้างสูง จึงได้สั่งการให้กรุงเทพมหานคร กลับไปพิจารณาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และใช้งบประมาณที่มาจากรายได้ของหน่วยงานก่อนเป็นอันดับแรก ในส่วนโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ให้เสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ พิจารณาก่อนเสนอขอรับสนับสนุนงบประมาณ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพยากรน้ำ เช่น โครงการด้านคมนาคม ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนปกติของหน่วยงานต่อไป
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช. ได้วิเคราะห์แผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบของทั้ง 8 หน่วยงาน เพื่อปรับปรุงเป้าหมายตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ให้สะท้อนกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยแบ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ออกเป็นระยะเร่งด่วน (ปี 2564) ระยะกลาง (ปี 2565-2570) และระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) ตามกรอบการดำเนินงานแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 84 โครงการ สามารถสรุปได้ 5 เป้าประสงค์ ดังนี้ 1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 10 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า และจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) การเดินเรือในคลองแสนแสบมีส่วนต่อขยายเพิ่มเติม 10.50 กม. มีท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 8 ท่า และระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือในคลองแสนแสบ 10 ท่า และมีเรือไฟฟ้าเพิ่มในการสัญจร 12 ลำ สามารถรองรับประชาชนที่ใช้บริการเรือไฟฟ้าส่วนต่อขยายวัดศรีบุญเรืองถึงสำนักงานเขตมีนบุรี ได้ถึง 800 - 1,000 คนต่อวัน 2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 14 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง 190 ตร.กม. ส่วนคลองบางขนากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนริมคลองและซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง รวมทั้งมีการพัฒนาและขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ 21 แห่ง และในระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีการสะพานข้ามคลองบางขนาก 4 แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณการสัญจรได้ 4,000 คัน/วัน
3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 44 โครงการ ดำเนินการโดย กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองแสนแสบ มีระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 10,000 ลบ.ม./วัน มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานบริเวณคลองแสนแสบ รวมทั้งมีการติดตามและตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ อาคารประเภทต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะกลาง (ปี 2565-2570) มีระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 661,000 ลบ.ม./วัน และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 2 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 935 ลบ.ม./วัน และในระยะยาว (ปี 2571 เป็นต้นไป) มีระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 597,000 ลบ.ม./วัน และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 24 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 2,590 ลบ.ม./วัน 4.การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ 1 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการสำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา และ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ 15 โครงการ ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ระยะเร่งด่วน (ปี 2564) มีการกำจัดวัชพืชคลองบางขนาก ปริมาณ 14,700 ตัน ระยะกลาง (ปี 2565-2570) สามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บางส่วนของเขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตบึงกุ่ม และเขตคันนายาว พื้นที่ 25 ตร.กม. ด้วยอุโมงค์ระบายน้ำในอัตราการระบายน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ความยาว 3.8 กม. การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะ 33.32 กม. มีพื้นที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 130 ตร.กม. เป็นต้น