นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างการจัดระเบียบโรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศ จำนวน 330 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนในกรุงเทพ จำนวน 157 แห่ง และโรงเรียนต่างจังหวัด 173 แห่ง ที่ไม่ประกอบกิจการและไม่แจ้งยกเลิก โดย สช.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทุกจังหวัด ให้ดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ สช.ได้กำหนดวันดำเนินการชัดเจน ถ้าโรงเรียนไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด จะสั่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียน เพื่อทำการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป โดยโรงเรียนจะต้องรวบรวมหลักฐานทางการศึกษา และผลการเรียนของนักเรียนส่งมาที่ สช.ด้วย
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สช.ประสบปัญหาในการให้บริการประชาชน เพราะโรงเรียนที่เลิกกิจการ และไม่ยอมส่งข้อมูลหลักฐานผลการเรียนของประชาชนให้ สช. เมื่อประชาชนเข้ามาติดต่อขอข้อมูล ไม่สามารถหาข้อมูลให้ได้ ดังนั้นจะต้องจัดระเบียบโรงเรียนเอกชนในระบบใหม่ คือถ้าสช.พบโรงเรียนเลิกกิจการแล้วไม่แจ้งเลิกกิจการ จะตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียน ให้คณะกรรมการควบคุมฯ รวบรวมหลักฐานทางการศึกษาของนักเรียนมาให้ สช. และให้คณะกรรมการควบคุมฯ ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับผู้ได้รับใบอนุญาตที่ไม่ส่งหลักฐานการศึกษามาให้ สช. ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
“นอกจากนี้ สช.จะจัดระเบียบโรงเรียนเอกชนนอกระบบอีก 300-400 แห่ง ซึ่งขณะนี้ สช.ได้สั่งปิดโรงเรียนเอกชนนอกระบบกว่า 2,000 แห่งแล้ว ถือเป็นการจัดระเบียบของโรงเรียนเอกชนครั้งใหญ่ เพราะถ้าไม่จัดระบบเราจะแยกไม่ออกว่าอันไหนโรงเรียนเถื่อน หรืออันไหนโรงเรียนจริง ทั้งนี้ สช.ได้จัดทำแอพพิเคชั่น สช. On Mobile ให้ประชาชนตรวจสอบโรงเรียนเอกชนทุกแห่งว่าได้รับใบอนุญาตจาก สช.จริงหรือไม่ รวมทั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อครูโรงเรียนเอกชนได้ด้วย เพื่อป้องกันผู้แอบอ้างเป็นครูโรงเรียนเอกชนมาหลอกลวงประชาชน”นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบริหารงานและปัญหาความขัดแย้งภายในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่สช.ได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ขณะนี้ สช.ได้แจ้งให้มูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ไปดำเนินการแก้ไขตราสารบางข้อที่อาจจะขัดแย้งกับกฏหมาย เช่น ในตราสารจัดตั้งของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ กำหนดว่าให้ดำเนินการตามระเบียบของมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย แต่โรงเรียนเป็นนิติบุคคล จะไปทำตามระเบียบของหน่วยงานอื่นไม่ได้ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน เป็นต้น
“โดยผู้ได้รับใบอนุญาตขอเวลาแก้ไขตราสารเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ได้ยื่นคำขอแก้ไขตราสาร สช.จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้อำนาจตาม มาตรา 6 ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีมีเหตุจำเป็นรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการจะประกาศให้โรงเรียนใดได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องใดก็ได้ เพื่อให้การแก้ไขตราสารดำเนินการโดยคณะกรรมการชุดอื่นที่ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาต” นายอรรถพล กล่าว