เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11 )
ความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 10 ออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 นั้น
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการควบคุมและระงับยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา2019 อย่างเข้มข้นโดยค้นหาผู้ติดเชื้อซึ่งส่วนมากจะไม่แสดงอาการผ่านการตรวจคัดกรองเชิงรุก ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่กลุ่มเป้าหมายตามแผนการกระจายวัคซีน
แต่ก็ยังปรากฏการระบาด ของโรคดังกล่าวในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดและชุมชนเมือง ทำให้มีการติดเชื้อเชื่อมโยง ไปยังชุมชนอื่นในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัดหลายจังหวัด ทั้งยังปรากฏด้วยว่ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรค สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมหลายกรณี ซึ่งหากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด อาจเกิดการระบาด ระลอกใหม่ที่ยากต่อการควบคุมได้
ประกอบกับในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมจะมีวันหยุดต่อเนื่อง หลายช่วงซึ่งประชาชนส่วนใหญ่จะใช้เวลาเช่นนี้เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว
และเจ้าหน้าที่ ยังสามารถจับคนต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองได้จำนวนมากในแต่ละวันเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย ภายในและสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย และเมื่อได้ตรวจสอบ ก็พบผู้ติดโรคจำนวนมาก สถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวจึงยังคงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัย ด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ประกาศ ณ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี