อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน ผู้ที่ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ รพ.เอกชน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากพบมีการเรียกเก็บเงิน สามารถแจ้งตำรวจ หรือ ก.สาธารณสุข ได้ทันที
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงกรณีมีการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลเอกชน แต่เกิดความกังวลว่า อาจจะมีการฉีดให้คนนอกกลุ่มเป้าหมายนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า การกระจายวัคซีนจะมี 2 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกจาก สธ.กระจายวัคซีนโควิด-19 ให้จังหวัดต่างๆ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เช่น ทหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 3. ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 4. ประชาชนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 5.ประชาชนในพื้นที่ระบาด เช่น จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ในย่านบางแค ทองหล่อ เป็นต้น
“หลังจาก สธ.สอบถามจำนวนตัวเลขเป้าหมาย เช่น กรุงเทพฯ สมมติมี 1 แสนคน ก็จะส่งไปให้ จากนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ จะพิจารณาและกำหนดว่า วัคซีนจะกระจายไปยังโรงพยาบาล (รพ.) ที่ไหน อย่างไร ซึ่งเท่าที่สอบถามส่วนใหญ่กระจายไปยัง รพ.เอกชน รวมถึง รพ.รัฐ มหาวิทยาลัย รพ.ของกรมการแพทย์ ฯลฯ รวม 131 แห่ง ได้รับวัคซีนมากน้อยแตกต่างกันไป เพราะแต่ละ รพ.มีขนาดไม่เหมือนกัน ซึ่ง รพ.เอกชนก็จะไปฉีดให้กลุ่มเป้าหมายแน่นอน คือ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก่อน และฉีดให้กับประชาชนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้ว โดยจะอยู่ในกลุ่มเป้าหมาย
ดังนั้น หากมีข้อสงสัยว่า ฉีดไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เบื้องต้นสมาคม รพ.เอกชน ปฏิเสธเรื่องนี้ รวมถึงการฉีดวัคซีนจะไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หากท่านไป รพ.ใด แล้วมีการคิดค่าฉีดวัคซีน ให้แจ้งตำรวจ หรือ แจ้ง ก.สาธารณสุข เข้าตรวจสอบได้ทันที”