ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการสนับสนุนทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ซึ่งในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ 20% ในปี 2579 ทั้งนี้การทบทวนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed – in Tariff สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ทิศทางราคาอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มมีนโยบายส่งเสริมตั้งแต่ในรูปแบบ Adder จนกระทั่งจนในรูปแบบ Feed – in Tariff มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 ราคาแผงโซลาร์เซลล์ อยู่ที่ 200 บาทต่อวัตต์ ซึ่งขณะนั้นกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแนวทางสนับสนุนด้วยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Adder ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย
ต่อมาในปี 2553 ราคาแผงโซลาร์เซลล์ปรับลดลงอยู่ที่ 120 บาทต่อวัตต์ และได้ปรับลด Adder ลงมาเหลือเพียง 6.50 บาทต่อหน่วย ส่วนในปี 2557 ราคาแผงโซลาร์เซลล์ปรับลดลงมาอยู่ที่ 54 บาทต่อวัตต์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นรูปแบบ Feed – in Tariff แทนการรับซื้อในรูปแบบ Adder ในอัตรา 5.66 บาท และล่าสุด ปี 2559 สถานการณ์ราคาแผงโซลาร์เซลล์ปรับลดลงมาเหลือเพียง 42 บาทต่อวัตต์ ดังนั้น เพื่อให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับราคาต้นทุนใน การผลิต และมีราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริโภค กระทรวงพลังงานจึงได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้มีการพิจารณาทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Feed-in Tariff ลดลงเหลือ 4.12 บาทต่อหน่วย เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2559