โฆษกรัฐบาลแจง สธ.กระจายและสำรอง "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้กับทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเพียงพอ รัฐบาลเร่งจดสิทธิบัตรเพื่อผลิตในไทย ใช้ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อย่างมีประสิทธิภาพและมีการกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยกระทรวงสาธารณสุขมีระบบบริหารจัดการจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยสำรองยาระดับประเทศและกระจายยาไปโรงพยาบาลในทุกจังหวัดที่รับผู้ป่วย
นอกจากนี้ ได้สำรองในโรงพยาบาลแม่ข่ายทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคทุกเขตสุขภาพมากกว่า 20 โรงพยาบาล เช่น ในกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพมหานครเป็นแม่ข่าย กระจายยาให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสังกัด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 -30 เมษายน 2564 มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี 190,500 เม็ด โรงพยาบาลนครพิงค์ 48,000 เม็ด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 78,200 เม็ด โรงพยาบาลชลบุรี 70,000 เม็ด โรงพยาบาลหาดใหญ่ 18,500 เม็ด โรงเรียนแพทย์ แห่งละ 4,000 – 6,000 เม็ด และโรงพยาบาลภาคเอกชนกว่าแสนเม็ด รวมทั้งมีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย
นายอนุชา กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ตามแนวทางการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงพร้อมกระจายยาและสำรองยาให้กับทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผู้ป่วยมีอาการอย่างทันท่วงที และเพียงพอกับความต้องการใช้ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
ในส่วนของนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในภูมิภาคนั้น ขณะนี้ได้ให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจากับผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง โดยองค์การเภสัชกรรมกำลังดำเนินการตามขั้นตอนการเพื่อให้ได้สิทธิยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาผลิตในประเทศ
โดยการการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์นั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของยาฟาวิพิราเวียร์ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายในการจัดหายาให้เพียงพอต่อความจำเป็นอย่างทันท่วงที ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค
อีกทั้งยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรในยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอน เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนนั้นก็ยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้โดยรัฐไม่ได้มีการผูกขาดการนำเข้าแต่อย่างใด