ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ภายหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ หรือผู้ประสบอุบัติเหตุทางช่องท้อง บางรายต้องพบเจอกับปัญหาความพิการ ต้องขับถ่ายอุจจาระทางรูเปิดของลำไส้ที่ผนังหน้าท้อง ซึ่งไม่มีหูรูด หรือ “ทวารเทียม” ดังนั้น จึงผลิตชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม จากยางพาราไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของสหสาขา เช่น ด้านผู้ผลิตยางพารา ด้านการแพทย์ ภาคเอกชนหลายองค์กร เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่ายางพารา ซึ่งข้อดี ที่ผลิตโดยยางพาราไทย คือ ระคายเคืองผิวน้อย พัฒนาขนาดอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของคนไทย สามารถเก็บกลิ่นได้ดีกว่าเดิมด้วยเทคโนโลยีของ PTTGC ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า 2-10 เท่า ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน อย.และได้รับรางวัลนวัตกรรมต่าง ๆ เป็นการช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ ลดการขาดแคลนของอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประหยัดเงินภาครัฐและตอบสนองความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่โรงพยาบาลหลายแห่ง ที่ผ่านมา ได้แจกจ่ายไปยังในหลายจังหวัดด้วยการสนับสนุนของ วช. และมีการสั่งซื้อจากผู้ที่สนใจเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของจำนวนการผลิตทั้งหมด ในอนาคต มั่นใจว่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น พร้อมเน้นย้ำแนวคิด จะส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางพาราร่วมกับทางการแพทย์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ มาตรฐาน Halal เพื่อความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และพร้อมส่งออกได้
ด้าน นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัย ให้มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยหลายแห่งให้สามารถผลิตและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศ เช่น ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นวัตกรรมหลายประเภทสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และอีกหลายโครงการเป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป