นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา ทำโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน" เพื่อปกป้อง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ภาพรวมจากการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ระหว่างปี 2557 -2561 สามารถอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนรวม 2,388 ไร่ เช่น ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศและผืนป่าชายเลน แล้วยังเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าชายเลน ช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับมาอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนมาในพื้นที่เป็นผลดีต่อชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่อ่าวตัว ก. ที่มีปัญหาชายฝั่งถูกกัดเซาะ แต่จากความร่วมมือของภาคเอกชนและชุมชนในพื้นที่ผ่านโครงการซีพีเอฟช่วยให้ผืนป่าชายเลนบริเวณนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นป่าชายเลนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากการปลูกไม้ป่าชายเลน อย่างต้นแสม ต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ แล้วปริมาณต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการทับถมของตะกอนเลนเป็นแนวเพิ่มขึ้น จนสามารถปลูกต้นไม้ได้มากขึ้นเป็นผลโดยตรงของการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า เนื่องในวันป่าชายเลนแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี จะเดินหน้าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนร่วมกับภาครัฐและประชาชนดูแลทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์ เพราะป่าชายเลนเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเป็นต้นทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์และสัตว์ทุกชีวิต และเป็นแหล่งรายได้ของผู้ประกอบอาชีพด้านการประมง โดยซีพีเอฟจะเดินหน้าโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน”ระยะที่ 2 ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชปลูกป่าใหม่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพิ่มอีก 266 ไร่ หลังประสบความสำเร็จในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร รวม 604 ไร่ ควบคู่กับเดินหน้าอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง รวม 614 ไร่ และปีนี้ยังมีแผนจะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่บริเวณ ต.ท่าพริก อ.เมือง จ.ตราด ถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบกด้วย
สำหรับการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" ระหว่างปี 2561-2562 เทียบกับก่อนเริ่มโครงการด้านเศรษฐกิจพบคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น เช่น รายได้จากการทำประมง โดยพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า และพื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า ด้านสังคม กลุ่มผู้สูงวัยมีสุขภาพจิตดีขึ้น จากการช้เวลาว่างเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลนป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์