นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำไปดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย กำหนดชำระหนี้คืนภายใน 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2559-2564 เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรได้กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและจัดหาปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อบริการแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวมีกลุ่มเกษตรกรที่ขอกู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรแล้ว 1,700 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 700 ล้านบาท และในปี 2563 ได้มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 300 กลุ่ม เป็นเงิน 159.7 ล้านบาท
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดระยะเวลาในการดำเนินโครงการดังกล่าว ทางคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร จึงได้มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาดออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุด ในวันที่ 30 เมษายน 2565 และกำหนดวงเงินกู้ยืมในการดำเนินโครงการในช่วงที่มีการขยายเวลาอีกเป็นเงิน 810 ล้านบาท
โดยกรมฯ ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการอนุมัติเงินกู้ยืม และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ฯระดับจังหวัดร่วมกันพิจารณาการขอกู้เงินกู้ยืมและการขอขยายระยะเวลาชำระหนี้คืนของกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งติดตามการใช้เงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้มีเงินทุนหมุนเวียนและพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจจากเงินทุนปลอดดอกเบี้ย พร้อมทั้งดูแลช่วยเหลือสมาชิก โดยจัดสรรให้สมาชิกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทำการเกษตร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยบรรเทาภาระหนี้สินแก่เกษตรกรในช่วงนี้อีกด้วย