นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการรณรงค์ป้องกันโรคลัมปี สกิน” ณ ฟาร์มโค นายสนธยา โสระเวช หมู่ที่ 3 ตำบลนาป่าแซง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวต้อนรับ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ ปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศา สหกรณ์นิคมนาหว้าใหญ่ จำกัด เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวฯ นอกจากนี้ยังได้มีการมอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลงให้สมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร พร้อมร่วมชมการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ก่อนปล่อยขบวนรถพ่นยาฆ่าเชื้อ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญและหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่
จังหวัดอำนาจเจริญพบมีการการระบาดของโรคลัมปีสกิน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ซึ่งปัจจุบันมีแพร่การระบาดครอบคลุมทุกอำเภอ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโค/กระบือจังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศามีสมาชิก 153 ราย เลี้ยงโคจำนวน 730 ตัว โดยปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศา ได้รับอนุมัติเงินกู้จาก ธกส. จำนวน 10 ล้านบาท ตามโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงโคอย่างครบวงจร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงชำแหละโค แต่เนื่องจากมีการระบาดของโรคลัมปีสกินค่อนข้างมาก หากยังมีการระบาดต่อเนื่องจะกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือเป็นอย่างมาก การรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ได้ตระหนักและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโค-กระบือ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ตลอดจนออกมาตรการเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน
ดังนั้นเพื่อให้การควบคุม ป้องกัน และยับยั้งโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อคลายความวิตกกังวลของเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดให้มีการรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์และลงพื้นที่ทำการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงต่างๆ ที่เป็นพาหะนำสำคัญ
ตอนนี้เราอยากรักษาพื้นที่ที่ยังไม่ติด พื้นที่ที่ติดเราก็ต้องการวัคซีน ในส่วนพื้นที่ที่ไม่ติดก็ต้องใช้วัคซีนมาป้องกัน แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือใช้ยาฆ่าแมลงมาฉีดป้องกันในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่เกษตรกรเดือดร้อนมากคือเรื่องเงินกู้ไม่ว่าจะกู้จาก ธกส.หรือจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะต้องกลับไปคุยกันว่าจะเยียวยาให้กับเกษตรกรอย่างไร และก็คงจะต้องคุยกับนายกรัฐมนตรี ว่าถ้าหากประกาศเป็นภัยพิบัติแต่ละจังหวัดจะได้ไหม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องดำเนินการต่อไป