กรมชลประทาน เดินหน้าขับเคลื่อนงานตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินโครงการตามภาระกิจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด นั้น
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนงานตามนโยบายดังกล่าว ด้วยการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ในพื้นที่ 44 จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมไปถึงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยได้ดำเนินงานพัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ได้แก่ แก้มลิง ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ขุดลอกคลอง อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และปรับปรุง ซ่อมแซมงานชลประทาน รวม 354 รายการ งานระบบกระจายน้ำสู่แปลงเกษตรกรรม ได้แก่ จัดระบบน้ำ ปรับปรุงงานจัดระบบน้ำ ปรับปรุงงานจัดรูปที่ดิน รวม 30 รายการ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคและสนับสนุนด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน โดยในปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมชลประทานกำหนดเป้าหมายของโครงการดังกล่าวไว้ อาทิ เพิ่มการจ้างงาน 9,716 คน ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 26.98 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 19,667 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 209,653 ไร่ และประชากรผู้รับประโยชน์ 64,952 ครัวเรือน
“การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน นับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่เดินทางกลับภูลำเนาและหันมาทำการเกษตรมากขึ้น ซึ่งกรมชลประทาน มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าปรับปรุง และพัฒนางานชลประทานอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ จะขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคตอีกด้วย” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด