การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ.2564 เพิ่มเติม วงเงิน 500,000 ล้านบาท วันนี้ (9 มิ.ย.64) โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่การแพร่ระบาดยังไม่ยุติลง ซึ่งพระราชกำหนดกู้เงินฉบับที่ 2 นี้ เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมใน 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการด้านการช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยประชาชนในทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 300,000 ล้านบาท และแผนงานหรือโครงการด้านการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมภายหลังการแพร่ระบาดคลี่คลาย วงเงิน 170,000 ล้านบาท ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีสามารถปรับกรอบวงเงินได้เพื่อให้การใช้จ่ายสอดคล้องกับความจำเป็นที่เกิดขึ้น โดยเพื่อความโปร่งใสยังกำหนดให้กระทรวงการคลังจะจัดทำรายงานผลการกู้เงินเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณด้วย
จากนั้นตลอดทั้งวัน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สลับกันอภิปรายทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า รัฐบาลควรนำเงินกู้ดังกล่าวใช้จ่ายอย่างรอบคอบเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งในส่วนของ ส.ส.รัฐบาล แม้จะอภิปรายสนับสนุน เพราะเห็นว่าการกู้เงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด -19 เป็นสิ่งจำเป็นที่หลายประเทศดำเนินการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่เห็นว่ารายละเอียดของแผนงานยังไม่ชัดเจนเพียงพอและไม่เห็นด้วยกับการแจกเยียวยาประชาชนเหมือนการระบาดในรอบแรก ซึ่งรัฐบาลควรวางแนวทางเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งควรนำเงินไปจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และไม่ควรนำเรื่องวัคซีนมาเป็นเรื่องการเมือง
ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ต่างอภิปรายไม่สนันสนุนพระราชกำหนดนี้ เพราะมองว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดทำให้การแพร่ระบาดไม่สามารถควบคุมได้จนเกิดการระบาดในระลอกที่สาม ซึ่งเมื่อสถานการณ์บานปลายเงินที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอ พร้อมย้ำว่าจะไม่เห็นชอบพระราชกำหนดนี้ ซึ่งหากไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจะต้องยุบสภา