นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งบูรณาการหน่วยงานทั้งฝ่ายปกครองและทหาร เตรียมความพร้อมรับสถานกาณ์ช่วงฤดูฝน รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องจนถึงฤดูแล้งหน้า รวมทั้งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรมและการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย
สำหรับการวางแผนรับมือสถานการณ์ฤดูฝน ในเชิงป้องกันก่อนเกิดภัย ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้
1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง โดยจะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อเตรียมแผนในเชิงป้องกันล่วงหน้า
2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมทั้งการจัดทำแผนการชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำเข้าทุ่ง
3. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ โดยติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำรวมทั้ง จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง ในช่วงภาวะวิกฤติ
4. ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน โดยตรวจสอบสภาพความมั่นคง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
5. ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจ และดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
6. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา กำจัดวัชพืชในแม่น้ำ และคูคลอง ทั่วประเทศด้วยการบูรณาการเครื่องจักรเครื่องมือในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชของทุกหน่วยงาน
7. เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง
8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
9. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
10. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนแผนงานโครงการด้านน้ำตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปีไปแล้ว 125,162 โครงการ วงเงิน 314,182 ล้านบาท มีผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น การเพิ่มน้ำต้นทุน ระบบส่งน้ำ การพัฒนาและขยายเขตประปาหมู่บ้าน 3,214 แห่ง พัฒนาน้ำบาดาลเกษตรและธนาคารน้ำใต้ดิน ได้น้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 135,170 ไร่ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้ว 2,274,737 ครัวเรือน รวมทั้งยังจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญรวม 526 โครงการภายในปี 2564-2566 นี้ด้วย