ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้เสนอความก้าวหน้าของการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก และได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก โดยได้รับการประกาศรับรองคุณภาพต่อเนื่องในเวทีการประชุม Global Validation Advisory Committee ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลกในการประกาศความสำเร็จดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 นับจากครั้งที่ 1 เมื่อปี 2559 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2561 โดยประเทศไทยยังคงรักษาคุณภาพในการดำเนินงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ ที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 สามารถป้องกันเด็กที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ ได้ปีละประมาณ 3,500 คน ทำให้มีเด็กทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีต่ำกว่า 50 รายต่อปี เนื่องจากประเทศไทย มีความเข้มแข็งของระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็กมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัยมานานกว่า 50 ปี
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินงานป้องกัน การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกนั้น กรมอนามัยได้บูรณาการเข้ากับงานอนามัยแม่และเด็ก การให้บริการเคารพสิทธิของผู้รับบริการ และให้บริการตามมาตรฐานภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร รวมถึงประชากรข้ามชาติ กลุ่มประชากรเปราะบางต่อการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยมาตรฐานการบริการ ได้แก่ การให้คำปรึกษาแบบคู่แก่หญิงตั้งครรภ์และสามีเพื่อตรวจสถานะการติดเชื้อ การตรวจเลือดเอชไอวี การให้ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง (HAART) การให้ยาเพื่อรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อในทารกโดยเร็วที่สุด (Early Infant Diagnosis) และการสนับสนุนนมผสมทดแทน นมแม่แก่หญิงหลังคลอดเป็นเวลา 12 เดือน
“ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงดำเนินการพัฒนาระบบการป้องกันและรักษาหญิงตั้งครรภ์จากโรคติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญต่อการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์และทารก เนื่องจากมีการติดเชื้อในเยาวชนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่จะทำให้ประเทศสามารถติดตามสถานการณ์การแพร่ของโรคได้ดี เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 คือลดการติดเชื้อรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 ราย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว