ทอท.เปิดตัวเลขผู้โดยสาร 8 เดือนแรก ลด 71.5% เดินหน้าปรับตัวรับมือโควิด-19 ดึงเทคโนโลยีหนุนบริการ ลั่นครบรอบ 42 ปี เดินหน้าลงทุนเพิ่มขีดความสามารถสนามบิน ลุยดอนเมืองเฟส 3 และขยายเชียงใหม่ 16.5 ล้านคน ชง ครม.อนุมัติปี 65
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 42 ปีการดำเนินงานของ ทอท.เมื่อ วันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยพบว่า ภาพรวมการดำเนินงาน 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแล โดย 8 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563 – พ.ค.2564) ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 18.33 ล้านคน ลดลง 71.5% สอดคล้องไปกับจำนวนเที่ยวบิน ที่พบว่ามีประมาณ 206,000 เที่ยวบิน ลดลง 51.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มีผู้โดยสาร 64.20 ล้านคนและเที่ยวบิน 425,800 เที่ยวบิน)
จากปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลงส่งผลให้ผลการดำเนินงานด้านการเงินของ ทอท. รอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 31 มี.ค. 2564 (งบการเงินเฉพาะบริษัท) ทอท. มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 3,748.03 ล้านบาท และรายได้อื่น 792.13 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 4,540.16 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 13,464.40 ล้านบาท และรายได้ภาษีเงินได้ 1,857.30 ล้านบาท จึงทำให้มีผลขาดทุนสำหรับงวดดังกล่าว จำนวน 7,066.94 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุด และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินมากที่สุด รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารและการดำเนินงานของ ทอท. อย่างชัดเจน ทำให้ ทอท. ได้มีการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์หลังจากสิ้นสุดวิกฤตโรคโควิด-19 ทั้งในด้านรูปแบบการเดินทาง พฤติกรรมผู้โดยสาร ทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการเดินทางทางอากาศ
โดยที่ผ่านมา ทอท. ได้เริ่มศึกษา พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการสัมผัส ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำมาใช้ในสนามบินบางแห่งของ ทอท. เพื่อนำร่องและขยายผลให้ครบทุกสนามบินในอนาคต ได้แก่
1.ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System : CUPPS) เริ่มนำร่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแห่งแรก ซึ่งเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวเช็กอินและโหลดสัมภาระ 2.ระบบติดตามและตรวจนับความหนาแน่นผู้โดยสารแบบ Real time (Passenger Tracking) เริ่มนำร่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ตก่อน 3.ระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์แบบอัตโนมัติ (Smart Carpark) เป็นการให้บริการผู้โดยสารที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณอาคารจอดรถ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต โดยผู้ใช้งานดำเนินการด้วยตนเองตั้งแต่การรับบัตรจอดรถ ค้นหาพื้นที่จอดรถ พร้อมแสดงจำนวนและตำแหน่งของช่องว่างที่สามารถจอดได้
นายนิตินัย กล่าวว่า แม้ว่า ทอท. จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ การพัฒนาสนามบินเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มีความก้าวหน้ามากกว่า 95%
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อเป็นการคืนขีดความสามารถเดิมของ ทดม.และพัฒนาเต็มศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 40 ล้านคนต่อปี ปัจจุบัน ทอท. อยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น ทอท. จะจัดส่งรายงานให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา
ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 16.5 ล้านคน ขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 1 ปี โดยคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงต้นปี 2565 และจะเริ่มจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างหลังจากออกแบบแล้วเสร็จ ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
พร้อมกันนี้ สนามบินของ ทอท. อีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเช่นกัน
นอกจากนี้ ทอท.ยังพัฒนาธุรกิจรูปแบบบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของ ทอท. ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการการบิน (Aeronautical Business) เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงาน และความหลากหลายด้วยการขยายธุรกิจออกไปจากธุรกิจการบิน (Diversified Business) เป็นการสร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบเชิงรุกเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ กระจายความเสี่ยง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้กับ AOT โดยได้ตั้งบริษัทร่วมทุน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AVSEC) บริษัท บริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด (AOTTO)